

เมื่อวันที่ 12 ตุลาคมที่ผ่านมา เรือโท กมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการ การท่าเรือแห่งประเทศไทย และคุณอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในการศึกษาโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งตู้สินค้าในท่าเรือแหลมฉบัง
โดยมี ร้อยตำรวจตรี มนตรี ฤกษ์จำเนียร ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง และคุณบุรณิน รัตนสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารกลยุทธ์ กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย ร่วมเป็นสักขีพยาน พร้อมด้วยคุณกฤษณ์ อิ่มแสง ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มปิโตเลียมขั้นปลาย และเรือเอก กานต์ เมนะรุจิ รองผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง เข้าร่วมพิธี ณ ห้องพลังไทย อาคาร 1 ชั้น 3 บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

บันทึกข้อตกลงฯ ดังกล่าว มีจุดประสงค์เพื่อการศึกษาและพัฒนาการเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งภายในท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งช่วยรองรับและสนับสนุนแผนพัฒนา 3 โครงการหลักของท่าเรือฯ ได้แก่ โครงการพัฒนาท่าเรือฯ ระยะที่ 3 อันเป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักในการพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อรองรับความต้องการการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นในอนาคต โครงการพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟในท่าเรือฯ (Single Rail Transfer Operation : SRTO) เพื่อรองรับการขนส่งตู้สินค้าด้วยระบบรางในท่าเรือฯ และโครงการท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือชุด เอ) เพื่อเป็นการพัฒนาเส้นทางการเชื่อมโยงโครงข่ายการขนส่งกับท่าเรือแหลมฉบัง

ทั้งนี้ โครงการพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟในท่าเรือฯ และโครงการพัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่งนั้น เป็นโครงการที่สนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่ง (Shift Mode) จากถนนสู่ทางรางและทางน้ำ เพื่อเป็นการพัฒนาและเพิ่มพูนประสิทธิภาพการขนส่งตู้สินค้าในท่าเรือฯ ยกระดับมาตรฐานการให้บริการ และระบบโลจิสติกส์โดยรวมของประเทศ พร้อมลดปริมาณการจราจรที่หนาแน่น รวมทั้งลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยเฉพาะในเส้นทางมาบตาพุด-แหลมฉบังอีกด้วย
อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Logistics Mananger เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Logistics Manager หรือคลิกที่นี่
อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Logistics Mananger เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Logistics Manager หรือคลิกที่นี่