PAT เผยทิศทางการดำเนินงาน ภายใต้วาระครบรอบ 70 ปี พร้อมเดินหน้าสู่การเป็นท่าเรือระดับโลก

0
2740

เมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา การท่าเรือแห่งประเทศไทย (PAT) ได้จัดงานแถลงผลการดำเนินงานด้านนโยบายและทิศทางการดำเนินงานประจำปี พ.ศ. 2564 ณ โรงแรม เซนทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัล พลาซ่า ลาดพร้าว (Centara Grand at Central Plaza Ladprao Bangkok)  กรุงเทพมหานคร

โดยงานแถลงผลการดำเนินงานฯ มีคุณอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมด้วยพลเอกโสภณ วัฒนมงคล ประธานกรรมการการท่าเรือฯ คณะกรรมการการท่าเรือฯ ผู้บริหาร และพนักงานการท่าเรือฯ ผู้บริหารจากหน่วยงานภาครัฐ ผู้ประกอบการด้านโลจิสติกส์ ผู้แทนชุมชน และสื่อมวลชนต่างๆ เข้าร่วมงาน

เรือโทกมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย

เรือโทกมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย ได้เผยผลการดำเนินงานของการท่าเรือฯ ในปีงบประมาณ 2564 ว่า “ปริมาณสินค้าและตู้สินค้าผ่านท่าในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2564 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา มีสัดส่วนที่ลดลง 6.24 เปอร์เซ็นต์ หรือคิดเป็นสินค้าปริมาณที่ 25.762 ล้านตัน จากเดิมที่ 27.476 ล้านตัน และมีปริมาณตู้สินค้าผ่านท่าที่ลดลง 2.81 เปอร์เซ็นต์ หรือ 2.311 ล้าน ทีอียู จากเดิมที่ 2.378 ล้าน ทีอียู ซึ่งเป็นผลกระทบจากวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19”

“แต่อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ประเทศไทยและประเทศอื่นๆ มีการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันเชื้อไวรัสฯ ส่งผลให้ปริมาณสินค้าและตู้สินค้าผ่านท่าของการท่าเรือฯ มีทิศทางกลับมาฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ประกอบกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญ ส่งผลให้ในเดือนมกราคม 2564 มีปริมาณสินค้าผ่านท่าเพิ่มขึ้น 3.57 เปอร์เซ็นต์ หรือ 9.253 ล้านตัน จากเดิมที่ 8.934 ล้านตัน และตู้สินค้าผ่านท่าเพิ่มขึ้น 2.66 เปอร์เซ็นต์ หรือ 0.773 ล้าน ทีอียู จากเดิมที่ 0.753 ล้าน ทีอียู” เรือโทกมลศักดิ์กล่าวเสริม

(จากซ้าย) พลเอกโสภณ วัฒนมงคลประธานกรรมการการท่าเรือฯ คุณอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และเรือโทกมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย

สำหรับทิศทางการดำเนินงานในวาระครบรอบ 70 ปี นั้น การท่าเรือฯ มีแผนจะยกระดับเป็นท่าเรือชั้นนำที่ได้มาตรฐานสากล โดยมียุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนในการพัฒนาบริการและโครงสร้างพื้นฐานให้มีมาตรฐานในระดับโลก การพัฒนาสู่การเป็นประตูการค้าหลัก และศูนย์กลางการเปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่ง การพัฒนาสินทรัพย์ในเชิงธุรกิจให้มีมูลค่าเพิ่ม การพัฒนาการให้บริการและยกระดับการทำงาน

มุ่งสู่การเป็นองค์กรสมรรถนะสูง ด้วยการนำระบบ Port Community System (PCS) หรือระบบศูนย์กลางเชื่อมโยงข้อมูลด้านขนส่งทางน้ำ และโลจิสติกส์แบบไร้รอยต่อ ทั้งของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านโลจิสติกส์ทั้งภาครัฐและเอกชนมาใช้เพื่อการทำงานที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นการรองรับโครงข่ายการเชื่อมโยงด้าน Logistics ในระดับนานาชาติ

“โดยการท่าเรือฯ จะเดินหน้าเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานท่าเรือของประเทศ ได้แก่ ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือกรุงเทพ และท่าเรือภูมิภาค โดยจะเร่งพัฒนาโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ขยายพื้นที่รองรับเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่มากขึ้น สามารถรองรับปริมาณตู้สินค้าได้ถึง 18 ล้าน ทีอียู ต่อปี ตลอดจนพัฒนาการทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อยกระดับให้ท่าเรือแหลมฉบังกลายเป็นท่าเรือหลักของภูมิภาค และเป็นเมืองท่าแห่งอนาคต และอีกหนึ่งโครงการคือ การพัฒนาศูนย์การขนส่งสินค้าทางรถไฟ เพื่อก่อสร้างลานขนถ่ายตู้สินค้าทางรถไฟบนพื้นที่ 600 ไร่ ให้สามารถรองรับรถไฟ จำนวน 12 ขบวน พร้อมติดตั้งเครื่องมือยกขนตู้สินค้าชนิดเดินบนราง (Rail Mounted Gantry Crane : RMG) ซึ่งจะรองรับตู้สินค้าได้ 2 ล้าน ทีอียู ต่อปี รวมทั้งโครงการพัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ) ที่จะเชื่อมโยงการขนส่งภายในประเทศและระบบโลจิสติกส์ได้อย่างครบวงจร” เรือโทกมลศักดิ์กล่าว

สำหรับท่าเรือกรุงเทพ ได้มีการพัฒนาปรับปรุงประสิทธิภาพของโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งอำนวยความสะดวก เครื่องมือทุ่นแรง และกระบวนการการทำงานภายในให้สามารถนำไปสู่การยกระดับการพัฒนาให้เป็นองค์กรที่มีสมรรถนะสูง โดยมีการพัฒนารูปแบบการให้บริการและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง 4 โครงการ ได้แก่ โครงการปรับปรุงและพัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่ง 20G เพื่อส่งเสริมระบบการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multimodal Transport) และพัฒนาระบบขนส่งและการขนถ่ายสินค้าให้มีโครงข่ายเชื่อมโยง (Logistics Chain) ภายในประเทศ

โครงการพัฒนาท่าเรือฝั่งตะวันตกในลักษณะท่าเรืออัตโนมัติ มีการนำเอาระบบ Semi-Automated Operation ที่มีประสิทธิภาพมาใช้ในการดำเนินงาน โครงการพัฒนาเส้นทางเชื่อมต่อท่าเรือกรุงเทพและทางพิเศษสายบางนา-อาจณรงค์ (S1) เป็นโครงการส่งเสริมระบบการขนส่งสินค้าต่อเนื่องหลายรูปแบบ

โดยพัฒนาระบบการขนส่งเชื่อมโยงโครงข่ายโลจิสติกส์ของประเทศ ซึ่งเป็นการยกระดับการให้บริการเชื่อมโยงการขนส่งภายในประเทศ และโครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อการอยู่อาศัยในชุมชนคลองเตย เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนโดยรอบท่าเรือไปพร้อมกัน

ทั้งนี้ ผู้อำนวยการการท่าเรือฯ มีความเชื่อมั่นว่าจากนี้ไป การท่าเรือฯ จะเดินหน้าตามวิสัยทัศน์ที่วางไว้ ตามวิสัยทัศน์ที่ว่า ‘มุ่งสู่มาตรฐานท่าเรือชั้นนำระดับโลก ด้วยการให้บริการด้านโลจิสติกส์ที่เป็นเลิศ เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในปี พ.ศ. 2573’


อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Logistics Mananger เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Logistics Manager หรือคลิกที่นี่

บทความก่อนหน้านี้Yang Ming เผยผลประกอบการ 2020 ทำกำไรสุทธิ 404.9 ล้านเหรียญสหรัฐ
บทความถัดไปAPRIL Group จับมือ Sealand Asia กระชับกระบวนการขนส่งวัตถุดิบจากอินโดนีเซียสู่จีน