พิชิตความท้าทายในการขนส่งและกระจายสินค้า FMCG ใน AEC ด้วยกลยุทธ์ระดับโลก

0
3058

เอเชียแปซิฟิกถือเป็นภูมิภาคที่มีการเติบโตสำหรับกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค (Fast-Moving Consumer Goods: FMCG) มากที่สุดในโลก โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีบริษัทผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคชั้นนำหลายบริษัทเข้ามาลงทุนเปิดฐานการผลิตสินค้าในภูมิภาคนี้อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ภาคการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ได้รับประโยชน์จากการเติบโตครั้งนี้ ผ่านการปรับปรุงบริการและขยายเครือข่ายบริการให้ครอบคลุมมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาค

อย่างไรก็ตาม หลังจากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community) การขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนในกลุ่มประเทศอาเซียน ยังคงมีความท้าทายอย่างต่อเนื่อง ด้วยกฎระเบียบและข้อบังคับของแต่ละประเทศ ลักษณะทางภูมิศาสตร์ และโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่มีความแตกต่างกัน ทำให้การจัดการขนส่งและกระจายสินค้าในภูมิภาคนี้ยังคงมีอุปสรรคหลายประการ ดังนั้น บริษัทผู้ให้บริการขนส่งและกระจายสินค้าจึงจำเป็นต้องมีการปรับปรุงรูปแบบการให้บริการให้ความสอดคล้องกับแต่ละพื้นที่ รวมไปถึงการร่วมงานกับพันธมิตรในท้องถิ่นที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้วย

LM ได้รับเกียรติจาก Mr. Brett Turner รองประธานฝ่ายการจัดการซัพพลายเชน บริษัท ดีเคเอสเอช (ประเทศไทย) จำกัด ผู้นำในการให้บริการด้านการขยายตลาด โดยมุ่งเน้นในภูมิภาคเอเชีย มาร่วมแบ่งปันวิสัยทัศน์และกลยุทธ์เกี่ยวกับการให้บริการขนส่งและกระจายสินค้าอุปโภคบริโภคในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงแนวทางในการพัฒนาเพื่อยกระดับให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าอุปโภคบริโภคของภูมิภาค

Developing Services

แม้ว่าการเปิดการค้าเสรีจะช่วยอำนวยความสะดวกต่อการขนส่งสินค้าจากประไทยไปยังประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน แต่ด้วยข้อกฎหมายและระเบียบการของแต่ละประเทศที่แตกต่างกันนั้น ยังคงเป็นอุปสรรคต่อการให้บริการขนส่งสินค้าในภูมิภาคนี้ โดย Mr. Turner แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นนี้ว่า “เนื่องด้วยข้อกฎหมายและระเบียบบังคับในแต่ละท้องถิ่นยังคงมีอิทธิพลต่อการขนส่งสินค้า ซึ่งในแต่ละประเทศมีข้อกฎหมายและระเบียบการที่แตกต่างกันออกไป เช่น ข้อบังคับด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัย ข้อจำกัดด้านการขนส่งสินค้า ทั้งการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และการควบคุมอุณหภูมิต่างๆ รวมทั้งกฎระเบียบในการขับขี่ ดังนั้น บริษัทฯ จึงได้ร่วมงานกับพันธมิตรผู้ให้บริการขนส่งสินค้าท้องถิ่น ที่มีประสบการณ์และได้รับการฝึกอบรมมาอย่างดี เพื่อให้มั่นใจว่ามีการปฏิบัติการตรงตามมาตรฐานและถูกต้องตามกฎหมาย”

นอกเหนือจากข้อกฎหมายและระเบียบการของแต่ละประเทศที่ผู้ให้บริการจำเป็นต้องมีการบังคับใช้และปฏิบัติตามแล้ว อีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่ผู้ให้บริการควรคำนึงถึงในการให้บริการจัดการสินค้าอุปโภคบริโภคในภูมิภาคอาเซียน นั่นคือการศึกษาด้านภูมิศาสตร์และโครงสร้างพื้นฐานของแต่ละประเทศ เนื่องจากแต่ละประเทศมีความแตกต่างด้านอุณหภูมิและลักษณะทางภูมิศาสตร์ ดังนั้น ผู้ให้บริการจำเป็นต้องมีการปรับรูปแบบการบริการให้มีความเหมาะสมกับประเทศนั้นๆ เพื่อให้สามารถจัดการสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นไปอย่างราบรื่น

Mr. Brett Turner

“เราได้มีการปรับรูปแบบการให้บริการให้เหมาะสมกับแต่ละประเทศ อย่าง การกระจายสินค้าในประเทศเวียดนาม เราเลือกใช้รูปแบบการส่งผ่านสินค้าเข้าคลัง (cross-docks) ในศูนย์กระจายสินค้าในเมืองหลักต่างๆ ของเวียดนาม ด้วยการขนย้ายสินค้าออกจากศูนย์กระจายสินค้าหลักของเราผ่านการส่งสินค้าผ่านเข้าคลัง ซึ่งวิธีนี้จะช่วยให้เราสามารถให้บริการส่งมอบสินค้าได้อย่างรวดเร็วและตรงตามเวลาที่กำหนด” Mr. Turner กล่าว

ทั้งนี้ การกระจายสินค้าประเภทอาหารจำเป็นต้องมีการระบุวันที่ควรบริโภคก่อน (best before date) และระบุเลขที่ครั้งที่ผลิต (batch control) เพื่อใช้ในการเรียกคืนสินค้าและติดตามสินค้า โดยเฉพาะการจัดการสินค้าควบคุมอุณหภูมิ ซึ่งต้องได้รับการควบคุมอุณหภูมิตลอดซัพพลายเชน ทั้งการจัดเก็บสินค้า การหยิบสินค้า การบรรจุภัณฑ์ การขนส่งและการรับสินค้า ซึ่งหากอุณหภูมิเกิดการเปลี่ยนแปลง สินค้าจะได้รับความเสียหายทันที

“เนื่องจากในบางประเทศเป็นพื้นที่เขตภูเขาซึ่งมีอากาศเย็น สินค้าจะต้องได้รับการจัดเก็บในอุณหภูมิที่สูงขึ้น ขณะที่พื้นที่ใกล้เส้นศูนย์สูตรหรืออยู่ในระดับน้ำทะเลจะมีอุณหภูมิสูง สินค้าจะถูกจัดเก็บในอุณหภูมิที่ต่ำลง” Mr. Turner กล่าว “เราจึงได้มีการจัดจ้างผู้ให้บริการท้องถิ่นที่มีประสบการณ์และมีความเชี่ยวชาญมาช่วยบริหารจัดการสินค้า รวมทั้งการติดตั้งระบบติดตามสินค้าสำหรับการติดตามสินค้าแบบเรียลไทม์ เพื่อให้มั่นใจว่าอุณหภูมิจะได้รับการควบคุมอย่างเหมาะสม”

Making a Hub

ปัจจุบันธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ (modern trade) ในประเทศไทยมีการเติบโตมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งคาดว่าในปี 2020 ธุรกิจค้าปลีกจะมีส่วนแบ่งทางการตลาดมากถึง 50 เปอร์เซ็นต์ โดยเป็นผลมาจากร้านค้าปลีกมีการเปิดตัวจำนวนมากและครอบคลุมมากขึ้น ทำให้ผู้บริโภคระดับครัวเรือนสามารถซื้อสินค้าได้ปริมาณน้อยชิ้นต่อครั้ง อีกทั้งประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้การซื้อสินค้าร้านสะดวกซื้อใกล้บ้านกลายเป็นตัวเลือกหลักของผู้บริโภค ด้วยเหตุผลด้านความสะดวกสบาย ขณะที่ราคาก็อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับห้างสรรพสินค้า

จากการเติบโตของธุรกิจค้าปลีกในประเทศไทย ส่งผลให้ผู้ผลิตสินค้าหลายรายเล็งเห็นถึงโอกาสในการขยายตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคไปยังประเทศอื่นๆ ในกลุ่มอาเซียน เนื่องจากตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคในประเทศฟิลิปปินส์ เวียดนาม และอินโดนีเซีย มีแนวโน้มเติบโตสูง นอกจากนี้ ทางภาครัฐและภาคเอกชนก็ยังเป็นแรงสนับสนุนสำคัญในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมต่อกับกลุ่มเศรษฐกิจในทวีปเอเชีย รวมทั้งเป็นจุดยุทธศาสตร์ของกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในด้านการผลิต การค้า การส่งออก และการขนส่ง ด้วยการส่งเสริมด้านการลงทุนและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมการขนส่ง

“เราเล็งเห็นว่าประเทศไทยมีความได้เปรียบทางที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ จึงเหมาะสมในการเป็นศูนย์กลางขนส่งและกระจายสินค้าอุปโภคบริโภคของภูมิภาคอาเซียน” Mr. Turner กล่าว “บริษัท ดีเคเอสเอช (ประเทศไทย) จำกัด ได้มีส่วนร่วมสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค ด้วยการปรับปรุงด้านการบริการและยกระดับการให้บริการด้านโลจิสติกส์ในภูมิภาค โดยเราได้มีการคัดเลือกผู้นำที่มีประสบการณ์ในแต่ละภูมิภาคและสินค้าประเภทต่างๆ เข้ามาบริหารจัดการภายในองค์กรของเรา ซึ่งผู้เชี่ยวชาญของเราในแต่ละประเทศ จะช่วยสนับสนุนลูกค้าให้สามารถจัดการซัพพลายเชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มโอกาสในการขยายตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคในภูมิภาคอาเซียน”

“นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้ร่วมงานกับพันธมิตรเพื่อปรับปรุงรูปแบบธุรกิจของเราให้สอดคล้องกับยุคดิจิทัล เช่น การริเริ่มโครงการนำร่องต่างๆ ให้แก่ลูกค้า ด้วยการเปลี่ยนแปลงกระบวนการทำธุรกิจให้เป็นระบบไร้กระดาษ (Paperless) การพัฒนาแพลตฟอร์มต่างๆ เพื่อให้ลูกค้าสามารถดำเนินการผ่านช่องทางการจำหน่ายสินค้าแบบ omni-channel ได้อย่างไร้รอยต่อ รวมถึงการพัฒนาบริการใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าและช่องทางการจำหน่ายสินค้าที่เกิดขึ้นใหม่” Mr. Turner กล่าวเสริม

ด้วยข้อได้เปรียบด้านตำแหน่งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของประเทศไทย ประกอบกับศักยภาพของผู้ผลิตสินค้าและผู้ให้บริการขนส่งและกระจายสินค้าชั้นนำของไทย ที่มีการพัฒนาสินค้าและการให้บริการที่สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าในภูมิภาคอาเซียน ตลอดจนถึงนโยบายและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของรัฐบาล ที่ช่วยกระตุ้นให้บริษัทต่างประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น สิ่งเหล่านี้ ล้วนเป็นส่วนขับเคลื่อนสำคัญที่ช่วยสนับสนุนให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าอุปโภคบริโภคในภูมิภาคอาเซียนได้ในอนาคต

Published on Logistics Manager magazine: 15th October 2018

อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Logistics Mananger เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Logistics Manager หรือคลิกที่นี่

บทความก่อนหน้านี้EXIM BANK พักชำระหนี้ พร้อมขยายสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ช่วยเหลือลูกค้าและผู้ส่งออกจากวิกฤต COVID-19
บทความถัดไปท่าเรือ Hamburg รับมอบหน้ากากอนามัยจากจีน
Phubet Boonrasri
Chen is an experienced writer and an avid explorer of nature. He thrives on travelling, hiking, and backpacking to new places. His wanderlust has allowed him to experience and learn from new cultures, allowing him to better accommodate for whatever comes his ways.