MSC ปรับใช้รหัสระบุสถานีตู้สินค้ามาตรฐานในฐานะสายการเดินเรือหลักเป็นรายแรกของโลก

0
1587

Mediterranean Shipping Company (MSC) สายการเดินเรือชั้นนำระดับโลก ประสบความสำเร็จในการปรับใช้รหัสระบุสถานีตู้สินค้าอย่างเป็นทางการโดยอิงจากระบบ BIC Facility Codes (BFC) ส่งผลให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องสามารถระบุที่ตั้งสถานีตู้สินค้าของ MSC ทั่วโลกได้โดยใช้รหัสที่ประกอบด้วยอักษรเก้าตัวตามระบบของ BFC ในลักษณะเดียวกับที่ท่าอากาศยานต่างๆ ใช้รหัสท่าอากาศยานสามตัวอักษรของ IATA โดยการปรับใช้สถานีตู้สินค้าในครั้งนี้นับเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนผ่านสู่การจัดการข้อมูลในระบบดิจิทัลในสถานปฏิบัติงานของ MSC ทั่วโลก 

การปรับใช้ฐานข้อมูลดิจิทัลในครั้งนี้ยังถือเป็นย่างก้าวสำคัญของ MSC ในการแก้ปัญหาความซ้ำซ้อน ความยุ่งยาก และความล่าช้าในกระบวนการขนส่งสินค้า อันเนื่องมาจากการใช้ภาษาสื่อสารที่แตกต่างกันในแต่ละภาคส่วนอีกด้วย โดยการกำหนดข้อมูลด้วยรหัสที่เป็นมาตรฐานจะช่วยลดความซับซ้อน ยกระดับประสิทธิภาพ และการันตีความชัดเจนในขั้นตอนการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ หรือกระบวนการขนส่งสินค้าที่ใช้ผู้ให้บริการหลายราย สร้างความลื่นไหลในการสื่อสาร พร้อมเพิ่มความแม่นยำและความโปร่งใสในการแลกเปลี่ยนข้อมูล รวมทั้งอำนวยให้กระบวนการดำเนินงานทั้งหมดเป็นไปอย่างเรียบง่าย  

“นับตั้งแต่สมาคม Digital Container Shipping Association (DCSA) ได้ก่อตั้งขึ้น MSC ก็สนับสนุนการกำหนดรหัสมาตรฐานสำหรับสถานที่ประกอบการต่างๆ พร้อมให้การสนับสนุนโครงการนี้มาโดยตลอด การปรับใช้รหัสมาตรฐาน BIC Facility Codes นั้นนับเป็นตัวอย่างที่ดีของความสามารถในการประสานรวมกระบวนการทำงานด้านดิจิทัลที่หลากหลายของ MSC เพื่อสร้างรากฐานสู่อนาคตการขนส่งสินค้าทางทะเลยุคดิจิทัลอย่างแท้จริง” Mr. Andre Simha ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายสารสนเทศดิจิทัล สายการเดินเรือ MSC กล่าว

อนึ่ง รหัสสถานีตู้สินค้าที่อิงจากระบบ BIC Facility Codes นั้นเกิดจากโครงการสร้างมาตรฐานทางข้อมูลของ Bureau International des Containers (BIC) ที่เริ่มต้นดำเนินการในเดือนพฤศจิกายน ปี 2020 โดยมีสมาคม DCSA เป็นผู้ให้การสนับสนุนโครงการ  

ทั้งนี้ จากความร่วมมือของสมาชิก DCSA ทั้งที่เป็นสายการเดินเรือและผู้ประกอบการให้เช่าพื้นที่ ส่งผลให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในปัจจุบันสามารถระบุถึงสถานีตู้สินค้ากว่า 17,000 แห่ง ใน 192 ประเทศทั่วโลก สำหรับกิจกรรมทางด้านซัพพลายเชนได้อย่างโปร่งใส ด้วยการระบุที่ตั้งพร้อมพิกัดทางภูมิศาสตร์ที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยมี BIC ทำหน้าที่บริหารจัดการฐานข้อมูลพร้อมให้บริการช่องทางการเชื่อมต่อข้อมูลดิจิทัลแบบ API สำหรับพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าระบบ IT ของทุกฝ่ายจะได้รับการอัพเดตอยู่เสมอ

โดยในปัจจุบัน ขณะที่สายการเดินเรือรายอื่นๆ ที่เข้าร่วมโครงการยังคงอยู่ระหว่างขั้นตอนการปรับใช้รหัสฯ MSC เป็นสายการเดินเรือรายแรกที่ประสบความสำเร็จในการปรับใช้รหัสสถานีตู้สินค้ามาตรฐานในเครือข่ายการดำเนินงานทั่วโลกได้โดยสมบูรณ์


อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Logistics Mananger เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Logistics Manager หรือคลิกที่นี่

บทความก่อนหน้านี้Hutchison Ports Thailand เสริมประสิทธิภาพปฏิบัติการ พร้อมเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัย ฝ่าวิฤตโรคระบาด
บทความถัดไปRhenus เปิดบริการขนส่งทางบกเชื่อมเกาหลีใต้-ยุโรป พร้อมขยายสำนักงานใน Seoul