การขยายเติบโตของเมืองส่งผลให้จำนวนขยะเพิ่มขึ้นตาม การบริหารจัดการกองขยะจึงกลายเป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่ทั้งสำหรับชุมชนเมืองและชนบท ใน Panama city ซึ่งมีประชากรอยู่ประมาณ 500,000 คน แต่ละวันมีการสร้างขยะถึง 2,500 ตัน โดยกว่า 750 ตันถูกทิ้งไว้ตามท้องถนน แม่น้ำ และมหาสมุทร มีเพียง 2 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้นที่จะถูกนำไปรีไซเคิล
Mr. Gabriel Vives พนักงาน Maersk ชาวปานามา วัย 30 ปี เขาทำงานในแผนกการพาณิชย์ของ Maersk มากว่า 8 ปี ในตำแหน่งด้านการบริการลูกค้าและการขาย นอกเหนือจากเวลาทำงาน เขายังมีอีกบทบาทหนึ่ง ในฐานะประธานมูลนิธิ Fundacion Costa Recicla ที่มีเป้าหมายเพื่อให้ความรู้ชาวปานามาเรื่องความยั่งยืนและแนวทางการบริหารจัดการขยะที่เหมาะสม
Mr. Vives เปิดเผยว่า “ตลอดชีวิตผมมีความตั้งใจที่จะช่วยพัฒนาประเทศเท่าที่จะทำได้ ผมเชื่อว่าหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ประเทศพัฒนาคือการให้คนในสังคมได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาและเติบโตไปด้วยกัน ซึ่งผมต้องการทำในส่วนของผมให้ดีที่สุด
ดังนั้น เมื่อผมได้รู้ถึงสถิติการบริหารจัดการขยะในปานามา ซึ่งเป็นปัญหาที่ไม่เคยได้รับการแก้ไข ผมรู้สึกตกใจมากที่ประเทศเล็กๆ อย่างปานามามีอัตราการบริโภคต่อหัวสูงถึงอันดับ 2 ของภูมิภาค จากการจัดอันดับโดย American Development Bank ด้วยระบบโครงสร้างการบริหารจัดการขยะที่ย่ำแย่และการขาดมาตรการควบคุม จึงทำให้ปานามามีการผลิตขยะจำนวนมาก ดังนั้น จำเป็นต้องมีใครสักคนออกมาพูดถึงเรื่องนี้”
มูลนิธิ Fundacion Costa Recicla ก่อตั้งขึ้นในปี 2012 เพื่อสนับสนุนการรีไซเคิลในปานามา ทางมูลนิธิฯ ได้จัดตั้งสถานีรีไซเคิลขนาดเล็กเพื่อเปิดรับสิ่งของเหลือใช้จากครัวเรือน ภายในปี 2017 มูลนิธิฯ ได้รับวัสดุไม่ใช้แล้วกว่า 500 ตัน เพื่อนำมารีไซเคิลทำประโยชน์ให้กับสังคม
หลังจากนั้น Fundacion Costa Recicla ได้ขยายไปสู่การถ่ายถอดความรู้ให้กับสังคม ในปี 2019 มูลนิธิฯ จัดเวิร์กชอปกว่า 100 ครั้ง ตามโรงเรียน สำนักงาน และชุมชน เพื่อสร้างความตระหนักรู้และส่งเสริมความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาขยะ
อีกหนึ่งโครงการที่มูลนิธิ Fundación Costa Recicla ริเริ่ม ได้แก่ โครงการรีไซเคิลภายในสำนักงาน Maersk ปานามา ซึ่งเริ่มขึ้นในปี 2017 โดยความร่วมมือกับ Community Investment Program of Sealand Americas ทางมูลนิธิฯ ได้รีไซเคิลวัสดุ 4 ประเภท ได้แก่ กระดาษลูกฟูก กระดาษ พลาสติก และกระป๋องอลูมิเนียม และด้วยความร่วมมือจากเพื่อนร่วมงานอย่างล้นหลาม ทางมูลนิธิฯ สามารถรีไซเคิลวัสดุเหลือใช้ได้มากกว่า 3 ตันภายใน 2 ปี ผลการสำรวจภายในสำนักงานพบว่ากว่า 95 เปอร์เซ็นต์ ของพนักงานเริ่มรีไซเคิลสิ่งของเหลือใช้ในสำนักงาน และ 75 เปอร์เซ็นต์ นำวิธีการรีไซเคิลมาใช้ที่บ้านด้วย
“ผลลัพธ์ที่ออกมานี้สร้างความภาคภูมิใจให้ผมเป็นอย่างมาก ไม่ใช่เพราะว่าโครงการประสบความสำเร็จอย่างดี แต่เป็นเพราะผมได้เห็นเพื่อนร่วมงานมีความตระหนัก ใส่ใจ และพร้อมที่จะทำมากขึ้น จนนำมาสู่โครงการอื่นๆ เช่น การบริจาคเสื้อผ้า และทำความสะอาดชายฝั่ง การได้เห็นว่าความมุ่งมั่นของผมได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับที่ทำงาน และการได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงการเหล่านี้เป็นสิ่งที่มีค่ามากสำหรับผม” Mr. Vives กล่าว
อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Logistics Mananger เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Logistics Manager หรือคลิกที่นี่