นับตั้งแต่การเปิดให้บริการครั้งแรกในปี 1991 จวบจนปัจจุบัน นับเป็นระยะเวลา 28 ปี ที่ท่าเรือแหลมฉบัง ได้ทำหน้าที่เป็นเกตเวย์สำคัญในการนำเข้า-ส่งออกสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศ ในฐานะที่เป็นท่าเรือหลักของประเทศไทย ท่าเรือแหลมฉบัง ได้มีการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน และสิ่งอำนวยความสะดวกภายในท่าเรือมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับปริมาณการขนส่งสินค้าผ่านท่าที่เพิ่มขึ้นและยังเป็นการขยายขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ให้ก้าวขึ้นเป็นหนึ่งในศูนย์กลางขนส่งสินค้าทางทะเลหลักของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ปัจจุบัน ท่าเรือแหลมฉบังมีขีดความสามารถในการรองรับปริมาณตู้สินค้าผ่านท่าประมาณ 11.1 ล้านทีอียูต่อปี และสามารถขนส่งรถยนต์ได้ 1.9 ล้านคันต่อปี โดยมีสินค้าทั่วไปผ่านท่าประมาณ 3.191 ล้านเมตริกตัน อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันการขนถ่ายตู้สินค้าผ่านท่าเรือมีปริมาณ 8.015 ล้านทีอียู และรถยนต์ 1.251 ล้านคัน ซึ่งถือว่าใกล้เต็มขีดความสามารถในการรองรับปริมาณสินค้าแล้ว ดังนั้น เพื่อเป็นการเพิ่มขีดความสามาถในการรองรับตู้สินค้าจาก 11.1 ล้านทีอียู เป็น 18.1 ล้านทีอียูต่อปี ท่าเรือแหลมฉบังจึงได้เตรียมจัดตั้งโครงการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง เฟสที่สามขึ้น เพื่อรองรับความต้องการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต อีกทั้งยังเป็นการแก้ไขปัญหาจราจรภายในท่าเรืออีกด้วย
นิตยสาร LM ฉบับนี้ ได้รับเกียรติจาก เรือโทยุทธนา โมกขาว ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบังคนใหม่ มาร่วมแบ่งปันข้อมูลและวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการพัฒนาโครงการท่าเรือแหลมฉบัง เฟสที่สาม รวมถึงแนวทางการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ภายในท่าเรือ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันโดยรวมของประเทศ และส่งเสริมให้เศรษฐกิจไทยมีการเติบโตที่ยั่งยืน
Phase III Development Details
สำหรับโครงการท่าเรือแหลมฉบัง เฟสที่สาม มีขนาดพื้นที่ทั้งหมด 2,846 ไร่ ประกอบด้วย ท่าเทียบเรือตู้สินค้า 2 ท่าเทียบเรือ ได้แก่ ท่าเทียบเรือ F ความยาวหน้าท่า 2,000 เมตร และท่าเทียบเรือ E ความยาวหน้าท่า 1,500 เมตร ท่าเทียบเรืออเนกประสงค์ ท่าเทียบเรือชายฝั่ง เพื่อรองรับการขนส่งตู้สินค้าภายในประเทศ ท่าเรือบริการ และย่านขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ บริเวณหลังท่าเทียบเรือ E และ F เพื่อรองรับตู้สินค้าทางรถไฟ 4 ล้านทีอียูต่อปี เป็นต้น
ทั้งนี้ โครงการท่าเรือแหลมฉบัง เฟสที่สาม สามารถรองรับเรือขนส่งสินค้า ขนาดพื้นที่ระวาง 15,000 ทีอียู มีขีดความสามารถในการรองรับตู้สินค้า 7 ล้านทีอียูต่อปี โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการภายในปี 2023 ซึ่งเมื่อรวมขีดความสามารถในการรองรับตู้สินค้าของท่าเรือแหลมฉบัง เฟสที่หนึ่ง 4.3 ล้านทีอียูต่อปี และเฟสที่สอง 6.8 ล้านทีอียูต่อปี จะทำให้ท่าเรือแหลมฉบังมีขีดความสามารถในการรองรับตู้สินค้าทั้งหมด 18.1 ล้านทีอียูต่อปี
เรือโทยุทธนา เปิดเผยว่า “เมื่อท่าเรือแหลมฉบัง เฟสที่สามเปิดให้บริการจะทำให้ท่าเรือแหลมฉบังมีประสิทธิภาพในการขนถ่ายตู้สินค้าได้ถึง 18.1 ล้านทีอียูต่อปี และเพิ่มสัดส่วนการขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟจาก 7 เปอร์เซ็นต์ เป็น 30 เปอร์เซ็นต์ ตามนโยบายของโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ในการลดต้นทุนการขนส่งโดยรวมของประเทศจาก 14 เปอร์เซ็นต์ เป็น 12 เปอร์เซ็นต์ ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ซึ่งจะทำให้ประหยัดต้นทุนการขนส่งโดยรวมของประเทศได้ถึง 250,000 ล้านบาท อีกทั้ง โครงการนี้ยังเชื่อมโยงโครงข่ายการขนส่งหลากหลายรูปแบบ ทั้งระบบรางและทางถนนเชื่อมโยงไปยังประเทศเพื่อนบ้านและทุกภูมิภาคของไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
โครงการท่าเรือแหลมฉบัง เฟสที่สาม นอกจากจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศไทยแล้ว ยังจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยได้รับประโยชน์ในด้านต่างๆ มากขึ้นด้วย อาทิ ช่วยลดต้นทุนค่าขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ของประเทศ ช่วยประหยัดเวลาในการขนส่งสินค้า และเพิ่มความรวดเร็วในการนำเข้า-ส่งออกสินค้า รวมทั้งเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจ สร้างอุตสาหกรรมใหม่ เพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศในเชิงเทคโนโลยี และเพิ่มโอกาสพัฒนาอุตสาหกรรมและธุรกิจต่อเนื่อง เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล
Launching New Innovations
เนื่องจากปัจจุบัน ท่าเรือเอกชนหลายแห่งที่ให้บริการในท่าเรือแหลมฉบังได้มีการปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกภายในท่าเรือด้วยการนำระบบอัตโนมัติเข้ามาใช้ปฏิบัติการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และลดอุบัติเหตุจากการปฏิบัติงาน อย่างไรก็ตาม ในฐานะที่เป็นท่าเรือหลักของประเทศไทย ท่าเรือแหลมฉบังจึงได้มีการปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกภายในโครงการท่าเรือแหลมฉบัง เฟสที่สามเช่นเดียวกัน ด้วยการนำระบบอัตโนมัติเข้ามาใช้ปฏิบัติการภายในท่าเรือ เพื่อให้สอดคล้องกับรูปแบบการลงทุนของภาคเอกชน และนโยบายการพัฒนาประเทศของรัฐบาล
โดยโครงการท่าเรือแหลมฉบัง เฟสที่สาม ได้มีการลงทุนด้านเครื่องจักรและเทคโนโลยีเข้ามาใช้ปฏิบัติการ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้การบริหารจัดการมีความรวดเร็วยิ่งขึ้น รวมไปถึงการช่วยลดมลพิษและสร้างสิ่งแวดล้อมได้อย่างดีเยี่ยม โดยเครื่องมือระบบอัตโนมัติที่ทางท่าเรือแหลมฉบังนำมาปรับใช้ประกอบไปด้วย เครนยกตู้หลังท่าแบบไร้คนขับ (Automated Stacking Crane) เครนหน้าท่า (Gantry Crane) ระบบจ่ายไฟฟ้า (Cold Ironing) และ ระบบท่าเรือ อิเล็กทรอนิกส์ (e-Port) โดยท่าเรือแหลมฉบังจะเปิดบริการ ระบบท่าหเรืออิเล็กทรอนิกส์เต็มรูปแบบ เพื่อลดปริมาณการใช้กระดาษ รวมทั้งให้บริการระบบเครือข่ายข้อมูลความเร็วสูงระหว่างกรมศุลกากร ท่าเรือแหลมฉบัง และท่าเรืออื่นๆ รวมทั้งให้บริการระบบการตรวจสอบการขนส่งสินค้า ณ สถานีตรวจสอบสินค้า โดยใช้เทคโนโลยี RFID และผนึกอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Seal)
“การนำเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติเข้ามาใช้ปฏิบัติการ นอกจากจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติการ และเพิ่มผลิตผลแล้ว ยังสามารถลดความผิดพลาดและลดอุบัติเหตุจากการปฏิบัติงานด้วย นอกจากนี้ การติดตั้งระบบอัตโนมัติภายในท่าเรือยังทำให้เราสามารถปฏิบัติงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง”
“เมื่อเทียบกับการใช้แรงงานคนที่มีข้อจำกัดในเรื่องชั่วโมงการทำงาน ถึงแม้ว่าเทคโนโลยีที่ทันสมัยและความก้าวหน้าของระบบท่าเรืออัตโนมัติเหล่านี้มีการลงทุนค่อนข้างสูง แต่สำหรับระยะยาวนับว่ามีความคุ้มค่าเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากท่าเรือแหลมฉบังมั่นใจว่าจะสามารถปฏิบัติงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและราบรื่น อย่างไรก็ตาม การยกระดับและปรับปรุงใช้ระบบท่าเรืออัตโนมัติยังต้องคำนึงถึงปัจจัยหลายด้าน ทั้งในเรื่องของเงินทุนในการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของท่าเรือ ปริมาณตู้สินค้าผ่านท่า ความต้องการในการขนส่ง และสภาพแรงงานของแต่ละพื้นที่” เรือโทยุทธนา กล่าว “ถึงแม้ว่าเราจะใช้ระบบอัตโนมัติเข้ามาทดแทน แต่ยังมีความจำเป็นที่จะต้องใช้มนุษย์ในการควบคุมการทำงาน ซึ่งจะทำให้คุณภาพชีวิตของแรงงานดีขึ้นกว่าเดิมที่ต้องตรากตรำต่อการขับขี่เครื่องมือในพื้นที่การทำงานอีกด้วย”
Improving Infrastructure
นอกเหนือจากการพัฒนาโครงการท่าเรือแหลมฉบัง เฟสที่สามแล้ว ทางท่าเรือแหลมฉบังยังได้วางแผนพัฒนาโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวกับการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานภายในท่าเรือแหลมฉบังเพิ่มเติม เพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่ง (Shift Mode) จากทางถนนมาเป็นทางรางและทางลำน้ำ ซึ่งเป็นการพัฒนาระบบโลจิสติกส์โดยรวมของประเทศให้มีการประหยัดพลังงานมากขึ้น ช่วยลดมลภาวะ และเป็นการลดต้นทุนโลจิสติกส์โดยรวมของประเทศให้ต่ำลง
“ปัจจุบันสัดส่วนในการขนส่งตู้สินค้าที่ท่าเรือแหลมฉบังไปยังพื้นที่หลังท่าส่วนใหญ่ 88 เปอร์เซ็นต์ เป็นการขนส่งทางถนน มีเพียง 7 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ขนส่งด้วยระบบราง และอีก 5 เปอร์เซ็นต์ขนส่งด้วยระบบลำน้ำ เนื่องจากท่าเรือไม่มีโครงสร้างพื้นฐานเพียงพอที่จะรับรองการขนส่งตู้สินค้าด้วยระบบราง ทำให้ท่าเรือแหลมฉบังมีขีดความสามารถในการขนส่งตู้สินค้าด้วยรางประมาณ 500,000 ทีอียูต่อปี ดังนั้น ท่าเรือแหลมฉบัง จึงได้มีการพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ (Single Rail Transfer Operator: SRTO) ที่ท่าเรือแหลมฉบัง โดยทำการก่อสร้างลานขนถ่ายตู้สินค้าทางรถไฟ (Rail Yard) ในพื้นที่ Zone 4 อยู่ ระหว่างท่าเทียบเรือ ชุด B และชุด C ซึ่งลักษณะของ Rail Yard จะติดตั้งรางรถไฟลักษณะเป็นพวงรางจำนวนหกราง โดยแต่ละรางมีความยาวช่วง 1,224-1,434 เมตร สามารถจอดขบวนรถไฟได้ราง ละสองขบวน รวมเป็น 12 ขบวน นอกจากนี้ ยังมีการติดตั้งเครื่องมือยกตู้สินค้าชนิดเดินบนราง (Rail Mounted Gantry Crane) สามารถทำงานคร่อมรางรถไฟได้ทั้งหกรางในเวลาเดียวกัน ซึ่งทำให้มีขีดความสามารถในการรองรับตู้สินค้าได้ 2 ล้านทีอียูต่อปี รวมทั้งยังทำให้สัดส่วนในการขนส่งตู้สินค้าทางบก มาสู่ระบบการขนส่งสินค้าทางรางที่ท่าเรือแหลมฉบังเพิ่มขึ้นจากเดิม 7 เปอร์เซ็นต์ เป็น 15 เปอร์เซ็นต์” เรือโทยุทธนา กล่าว
นอกจากนี้ ทางท่าเรือแหลมฉบังยังมีการพัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) ที่ท่าเรือแหลมฉบังเพิ่มเติม เนื่องจากปัจจุบันปริมาณตู้สินค้าที่ขนส่งทางเรือชายฝั่งมายังท่าเรือแหลมฉบัง มีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยตั้งแต่ปี 2008-2012 มีปริมาณตู้สินค้าทางเรือชายฝั่งเฉลี่ยประมาณ 178,000 ทีอียูต่อปี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ทางการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) จึงได้เตรียมความพร้อมสนับสนุนนโยบายการปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งทางถนนสู่ระบบการขนส่งทางน้ำ (Shift Mode) เพื่อช่วยลดภาระต้นทุนค่าใช้จ่ายการขนส่งโดยรวมของประเทศ ด้วยการพัฒนาศักยภาพระบบโลจิสติกส์ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้เป็นรูปธรรม ซึ่งจะมีส่วนช่วยสนับสนุนท่าเรือขนส่งสินค้าทางลำน้ำเอกชน และท่าเรือขนส่งสินค้าชายฝั่งทะเลอ่าวไทยบริเวณพื้นที่ฐานการผลิตที่สำคัญในภาคใต้ อาทิ ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี กับท่าเรือแหลมฉบัง
ทั้งนี้ ท่าเทียบเรือ A มีพื้นที่ประมาณ 43 ไร่ เพื่อให้บริการท่าเรือชายฝั่งโดยเฉพาะ ซึ่งจะดำเนินการก่อสร้างทางเทียบเรือเป็นรูปตัว L ความ กว้าง 30 เมตร ความยาวหน้าท่า 120 เมตร และ 125 เมตร ขนาดแอ่งจอดเรือเท่ากับ 115×120 เมตร ความลึก 10 เมตร (MSL) สามารถจอดเรือได้ขนาด 1,000 เดตเวทตัน และ 3,000 เดตเวทตัน โดยท่าเทียบเรือ A สามารถขนตู้สินค้าได้คราวละ 100 ทีอียู และ 200 ทีอียู ในเวลาเดียวกัน มีขีดความสามารถในการรองรับตู้สินค้าได้ 300,000 ทีอียูต่อปี ซึ่งจะทำให้สัดส่วนในการขนส่งตู้สินค้าทางบกมาสู่ระบบการขนส่งทางน้ำที่ท่าเรือแหลมฉบัง เพิ่มขึ้นจากเดิม 5 เปอร์เซ็นต์ มาเป็น 10 เปอร์เซ็นต์
นอกจากนี้ ท่าเรือแหลมฉบังยังได้มีการปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรภายในเขตท่าเรือแหลมฉบัง โดยกทท. ได้จัดสรรงบประมาณจำนวน 968.955 ล้านบาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เพื่อทำการขยายถนนเดิม ก่อสร้างสะพานข้ามแยก ก่อสร้างด่านเก็บเงินประตูตรวจสอบหนึ่ง จำนวน 14 ช่อง ก่อสร้างด่านเก็บเงินประตูตรวจสอบสาม จำนวน 6 ช่อง ก่อสร้างสะพาน กลับรถ และติดตั้งสัญญาณไฟจราจร เป็นต้น
ด้วยความมุ่งมั่นและตั้งใจของท่าเรือแหลมฉบัง ในการพัฒนาโครงการท่าเรือแหลมฉบัง เฟสที่สาม ซึ่งถือเป็นการปรับรูปโฉมครั้งสำคัญของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อให้สอดคล้องกับการทำงานของภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็นการปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น การลงทุนนำระบบเทคโนโลยีอันทันสมัยเข้ามาใช้ปฏิบัติการ เพื่อให้สามารถดำเนินการได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและปลอดภัย ตลอดจนถึงการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานภายในท่าเรือแหลมฉบัง เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ที่เข้ามาใช้บริการ อย่างไรก็ตาม โครงการพัฒนาเหล่านี้จะบรรลุความสำเร็จได้ ต้องมาจากการร่วมมือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ที่เข้ามาช่วยกันผลักดันให้ท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งเป็นท่าเรือหลักของประเทศไทยให้ก้าวขึ้นเป็นท่าเทียบเรือตู้สินค้าชั้นนำในระดับโลก
อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Logistics Mananger เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Logistics Manager หรือคลิกที่นี่