ท่าเรือแหลมฉบังต่อยอดความสำเร็จในปี 2019 พร้อมเดินหน้าสู่ปี 2020 อย่างภาคภูมิ

0
7572

เกือบสามทศวรรษที่ท่าเรือแหลมฉบังทำหน้าที่เป็นประตูการค้าที่สำคัญของแดนสยาม โดยท่าเรือฯ ตระหนักดีถึงความเปลี่ยนแปลง และเฟ้นหาแนวทางในการพัฒนาระบบการบริหาร รวมถึงอุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่างๆ มาโดยตลอด เพื่อรักษามาตรฐานและเพิ่มพูนประสิทธิภาพการดำเนินงานให้เท่าทันกับยุคสมัย  

นิตยสาร LM ฉบับนี้ได้รับเกียรติจาก เรือโท ยุทธนา โมกขาว ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง มาร่วมพูดคุยถึงความสำเร็จในปีที่ผ่านมา พร้อมแบ่งปันข้อมูลแผนการพัฒนาท่าเรือฯ เพื่อต่อยอดความสำเร็จ รวมถึงแนวโน้มและโครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ของประเทศไทยในอนาคตอันใกล้     

Aerial view Tug boats drag container ship to sea port and working crane bridge loading container for logistics import export or transportation concept background, Laemchabang port Chonburi province, Thailand.

RECAPING 2019

“แม้ว่าปริมาณตู้สินค้าจะเพิ่มขึ้นและมีการเติบโต แต่เนื่องจากผลกระทบจากสงครามทางการค้า สถิติสินค้านำเข้าและส่งออกของท่าเรือแหลมฉบังในปีนี้จึงเพิ่มขึ้นในอัตราส่วนที่ลดลง” คุณยุทธนาเผยถึงแนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2019 ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของท่าเรือฯ “ในทุกๆ ปี ท่าเรือแหลมฉบังจะมีการเติบโตในสัดส่วนสองถึงสามเปอร์เซ็นต์ ซึ่งใกล้เคียงกับตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของไทย โดยในหลายปีที่ผ่านมา ตัวเลขจะอยู่ที่ประมาณสามเปอร์เซ็นต์ ทว่าในปีนี้ การเติบโตกลับอยู่ที่เพียงไม่ถึงหนึ่งเปอร์เซ็นต์เท่านั้น”

ปริมาณสินค้าที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัดคือรถยนต์ โดยคุณยุทธนาอธิบายว่า “ข้อมูลจากสถิติ เผยว่าภาพรวมของปริมาณรถยนต์ที่ผ่านท่าเรือแหลมฉบังอยู่ที่ราวหนึ่งล้านสองแสนคัน ซึ่งไม่ได้โตขึ้นเหมือนที่เราคาดการณ์ไว้ในอดีต โดยแนวโน้มในปัจจุบันนั้น ปริมาณรถยนต์ที่ส่งออกไม่ได้สูงขึ้น ซึ่งอาจเกิดจากผลกระทบด้านภาวะเศรษฐกิจ รวมทั้งแนวโน้มของการเปลี่ยนจากรถที่ใช้น้ำมัน มาเป็นรถที่ใช้ไฟฟ้ามากขึ้น โดยทุกวันนี้โรงงานต่างๆ ก็เริ่มปรับตัวมาผลิตรถยนต์ระบบไฟฟ้ากันมากขึ้น ทั้งรุ่นที่เป็นไฮบริด และที่ใช้ระบบไฟฟ้าอย่างสมบูรณ์”

ความเปลี่ยนแปลงอีกประการที่อาจส่งผลกระทบต่อท่าเรือแหลมฉบังในอนาคต ยังมาจากคู่แข่งที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งท่าเรือจากประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงท่าเรือในประเทศไทย “ประเทศเวียดนามมีการพัฒนาท่าเรือขึ้น โดยปัจจุบัน ท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดมีความลึกหน้าท่าประมาณ 15 เมตร ขณะที่สินค้าที่ผ่านเข้า-ออกท่าเรือเวียดนามก็ไม่แตกต่างจากสินค้าผ่านท่าของไทย เราอาจจะเสียเปรียบในเรื่องของต้นทุนค่าแรง รวมถึงค่าเงินบาทที่แข็ง การสั่งสินค้าจึงมีปริมาณที่ลดลง กระนั้น เราก็ยังคงได้เปรียบในเรื่องของฝีมือแรงงาน” คุณยุทธนายกตัวอย่าง  

“ในฐานะท่าเรือส่งออก การตั้งคำถามถึงปริมาณสินค้าจึงไม่ใช่หน้าที่หลักของเรา หน้าที่ของเราคือการสรรหากรรมวิธี ตระเตรียมสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานต่างๆ ของท่าเรือฯ ให้มีความพร้อม รวมไปถึงถนนหนทางที่เข้าสู่ท่าเรือ ซึ่งทางท่าเรือฯ ก็มีการปรับปรุงอยู่อย่างต่อเนื่อง” คุณยุทธนากล่าว  

AHEAD OF THE CURVE

“สิ่งหนึ่งที่ท่าเรือแหลมฉบังจำเป็นต้องมีการปรับปรุง เพื่อพัฒนาสู่การเป็นท่าเรือระดับโลกก็คือ การบริหารจัดการข้อมูล โดยในส่วนของการท่าเรือแห่งประเทศไทย ได้มีการจัดตั้งโครงการและนโยบายต่างๆ เพื่อโอนย้ายข้อมูลมาอยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น” คุณยุทธนาเผย  

“ผมมองว่าการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารในรูปแบบไอที เป็นปัจจัยที่ส่งเสริมความลื่นไหลของการแบ่งปันข้อมูลด้านการขนส่ง และช่วยให้มีความสะดวกมากยิ่งขึ้น เรามีโครงการที่เรียกว่า ‘Port Community System’ ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่เปิดให้ทุกคนในท่าเรือฯ เข้ามาร่วมใช้งาน ร่วมกันแบ่งปันข้อมูล และยังสามารถแบ่งปันข้อมูลไปยังต่างประเทศหรือท่าเรือต้นทางได้อีกด้วย” คุณยุทธนากล่าวต่อ    

นอกจากนั้น การท่าเรือแห่งประเทศไทยและสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ยังได้ร่วมกันผลักดันการพัฒนาระบบบริหารจัดการท่าเรืออัจฉริยะ หรือ Smart Port ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันโครงการ Smart City เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งอัจฉริยะ ด้วยการเชื่อมโยงข้อมูลการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multimodal Transportation) สำหรับปฏิบัติการส่งออกและนำเข้าสินค้าในท่าเรือแหลมฉบัง

พร้อมกันนั้น การท่าเรือแห่งประเทศไทยและท่าเรือแหลมฉบัง ก็ได้พัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์ ‘Truck Que’ เพื่อช่วยบริหารเวลาแก่รถบรรทุกสินค้าที่ผ่านเข้า-ออกท่าเรือฯ และผลักดันมาตรฐานท่าเรือฯ ให้ทัดเทียมกับท่าเรือชั้นนำระดับโลก โดยแนวคิดเบื้องหลังการพัฒนาระบบคือ ให้รถบรรทุกสินค้ากระจายตัวไปในแต่ละช่วงเวลาอย่างเหมาะสม เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการขนส่งหรือเจ้าของสินค้า โดยผู้ใช้บริการท่าเรือฯ สามารถดำเนินการจองเวลารับ-ส่งสินค้าผ่านอินเทอร์เน็ตได้ด้วยตัวเอง

ทั้งนี้ ในปัจจุบัน ท่าเรือฯ ใช้ประตูตรวจสอบที่สี่เป็นประตูนำร่องในการให้บริการระบบ Truck Que พร้อมเปิดให้บริการศูนย์รับแก้ไขปัญหา (Call Center) ทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง ไม่เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพสูงสุดแก่ระบบดังกล่าว

PHASE III DEVELOPMENT

สิ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าระบบบริหารจัดการของท่าเรือฯ ก็คือตัวสถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวก โดยคุณยุทธนาได้แสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการพัฒนาพื้นที่ของท่าเรือแหลมฉบังว่า “ในฐานะที่เราเป็นท่าเรือ สิ่งหนึ่งที่เราต้องพยายามอย่างสุดความสามารถก็คือ ต้องปรับปรุงพื้นที่ของเราให้มีความสะดวกสบายมากที่สุด ซึ่งผมจะเน้นย้ำไปในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ โดยท่าเรือแหลมฉบังมุ่งหวังให้ท่าเรือเฟสที่สามเป็นตัวชูโรง ในแง่ของการเป็นท่าเรือที่มีความสามารถรองรับเรือที่วิ่งในระดับน้ำที่ลึกขึ้นได้” 

เมื่อท่าเรือแหลมฉบังเฟสสามแล้วเสร็จ คุณยุทธนามั่นใจว่าเรือที่ใหญ่ที่สุดในโลกจะสามารถเข้ามาวิ่งเหนือน่านสมุทรของประเทศไทยได้โดยไม่มีข้อจำกัด เนื่องจากท่าเรือเฟสสามจะมีความลึกมากที่สุดถึง 18.5 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง พร้อมกันนั้น เรือที่ใช้เป็นแม่พิมพ์ในการออกแบบเฟสสาม ก็ยังเป็นเรือขนาด Triple E-class ที่มีความยาวมากกว่า 400 เมตร

ยิ่งไปกว่านั้น ท่าเรือแหลมฉบังยังให้ความสำคัญกับแนวทางการปฏิบัติงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งกลายมาเป็นเทรนด์สำคัญสำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ ทั่วโลก โดยวางโครงสร้างพื้นฐานของท่าเรือเฟสสามให้เป็นท่าเรือพลังงานสะอาด “เราตั้งข้อกำหนดไว้ว่า ผู้ที่จะเข้ามาประมูลเพื่อประกอบการในท่าเรือเฟสที่สามฝั่ง F1 และ F2 จะต้องปฏิบัติงานในระบบกึ่งอัตโนมัติที่ทันสมัย เนื่องจากปัจจุบัน การรักษาสภาพแวดล้อมเป็นเทรนด์สากลทั่วโลก เรือที่จะเข้ามาเทียบท่าต้องมีสายไฟรับพลังงานไฟฟ้า ในอนาคต ท่าเรือแหลมฉบังจึงวางแผนที่จะติดตั้งปลั๊กไฟเพื่อจ่ายพลังงานให้กับเรือที่ดับเครื่องเมื่อเข้าเทียบท่า เพื่อช่วยลดมลภาวะ โดยท่าเรือฯ ได้รับพลังงานไฟฟ้าจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคถึง 115 กิโลวัตต์ ซึ่งเพียงพอต่อการส่งมอบให้กับเรือได้โดยไม่ติดปัญหาใดๆ” คุณยุทธนากล่าว 

“นอกจากนี้ มาตรการ IMO 2020 ยังกำหนดว่า เรือบรรทุกสินค้าต้องใช้น้ำมันชนิดกำมะถันต่ำ และในฐานะสมาชิกของ IMO เราก็อาจจะมีมาตรการบังคับจากกรมเจ้าท่า ให้เรือที่จะเข้ามาเทียบท่า ต้องเป็นเรือบรรทุกสินค้าที่ใช้น้ำมันชนิดกำมะถันต่ำ” คุณยุทธนากล่าว

TRANSSHIPMENT PORT

เพื่อเพิ่มปริมาณตู้สินค้าผ่านท่าให้สูงขึ้น ท่าเรือแหลมฉบังกำลังศึกษาโครงการพัฒนาท่าเรือให้เป็นท่าเรือถ่ายลำสินค้า หรือ Transshipment Hub ซึ่งจากปริมาณตู้สินค้าผ่านท่าแปดล้านหนึ่งแสนตู้ในปีที่ผ่านมา มียอดสินค้าถ่ายลำเพียงแปดหมื่นตู้ หรือประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น โดยคุณยุทธนาได้อธิบายว่า “ปัจจัยหลักในการเป็นท่าเรือถ่ายลำสินค้านั้น ต้องมีระบบกฎหมายที่ช่วยอำนวยความสะดวกในเรื่องของตู้สินค้าและการแลกเปลี่ยนข้อมูลเข้ามาเกี่ยวข้อง เหตุผลที่ประเทศสิงคโปร์ประสบความสำเร็จในการเป็นศูนย์กลางการถ่ายลำสินค้า เพราะว่าเรือที่เข้าท่าถูกกำหนดให้ส่งเพียงข้อมูลตัวเลขตู้สินค้าให้กับท่าเทียบเรือ โดยไม่จำเป็นต้องแจ้งข้อมูลสินค้าในตู้สินค้า”  

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังมีข้อจำกัดทางด้านกฎหมายศุลกากร โดยปัจจุบัน การท่าเรือฯ กำลังหารือกับกรมศุลกากร เพื่อปรับปรุงกฎระเบียบบางข้อ ซึ่งอาจต้องให้เวลากับทางศุลการกรในการศึกษาและพิจารณาปรับปรุงกฎระเบียบให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ คุณยุทธนาได้เผยถึงวิสัยทัศน์ในอนาคตว่า เพื่อรองรับปริมาณสินค้าถ่ายลำที่จะเพิ่มสูงขึ้น ต้องมีการปรับปรุงพื้นที่หลังท่าเรือฯ ให้สอดคล้องกับปริมาณสินค้าด้วย เนื่องจากธรรมชาติของสินค้าถ่ายลำนั้น อาจต้องมีการวางพักไว้ที่ท่าเรือฯ ในระยะเวลาหนึ่ง เพื่อรอส่งต่อไปยังปลายทาง ความพร้อมของพื้นที่หลังท่า จึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะเป็นตัวกำหนดปริมาณสินค้าถ่ายลำที่จะผ่านเข้ามา  

อย่างไรก็ตาม คุณยุทธนาไม่ได้วางแผนให้ท่าเรือแหลมฉบังพัฒนาตัวเองขึ้นเป็นศูนย์กลางการถ่ายลำสินค้าเพื่อแข่งขันกับสิงคโปร์หรือมาเลเซีย โดยอธิบายว่า “ผมมองว่าเราไม่จำเป็นต้องดำเนินธุรกิจ Transshipment อย่างเต็มรูปแบบเหมือนประเทศสิงค์โปร์ เพราะเราตระหนักดีว่าที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของเราไม่ได้อยู่ในเส้นทางการค้าหลัก อย่างไรก็ตาม สังเกตว่า ณ เวลานี้ เรามีสายการเดินเรือจากประเทศจีนและอินเดียเข้ามายังประเทศไทยจำนวนมาก หากว่าเราสามารถเชื่อมโยงจุดเหล่านี้เข้าด้วยกัน เราก็สามารถดำเนินธุรกิจศูนย์กลางการถ่ายลำสินค้า ในลักษณะของ ‘Niche Market’ ซึ่งผมมั่นใจว่าจะทำให้เรามีปริมาณตู้สินค้าเติบโตขึ้นได้อย่างแน่นอน” คุณยุทธนากล่าว

CENTER OF ASEAN

ปัจจุบัน ประเทศสปป. ลาวอาศัยท่าเรือแหลมฉบังเป็นประตูการค้าหลัก โดยสินค้านำเข้าของลาว 80 – 90 เปอร์เซ็นต์ ล้วนผ่านทางประเทศไทย โดยใช้ประโยชน์ในด้านความปลอดภัยของสินค้า เส้นทางสัญจรที่สะดวกสบาย รวมถึงมีการขนส่งสินค้าผ่านทางรถไฟด้วย  

การท่าเรือแห่งประเทศไทยได้ทำการศึกษาและประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องการสร้างท่าเรือฯ ให้เป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทางทะเลของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยคุณยุทธนาเผยว่า ได้มีการพูดคุยกับการรถไฟแห่งประเทศไทย ในเรื่องของการสร้างท่าเรือบก (dry port) ทางภาคอีสาน หรือฝั่งประเทศลาว เพื่อส่งเสริมให้ท่าเรือแหลมฉบังสามารถดึงดูดสินค้าจากจีนตอนใต้เข้ามาได้มากขึ้น “จีนตอนใต้มีความสนใจที่จะส่งสินค้ามายังท่าเรือแหลมฉบัง เนื่องจากเส้นทางส่งออกจากคุนหมิง ภาคใต้ของจีนไปยังทั่วโลก เส้นทางรถไฟที่เชื่อมต่อจากจีนตอนใต้มายังมาบตาพุดและเชื่อมต่อมาแหลมฉบัง จะเป็นเส้นทางการขนส่งทางเลืออีกเส้นทางหนึ่งของการนำสินค้าจากจีนตอนใต้ไปสู่ทุกภูมิภาคของโลกอีกด้วย

ความพยายามเปลี่ยนแปลงเส้นทางสินค้าดังกล่าว เป็นเพียงหนึ่งในความแปรเปลี่ยนที่ไม่สิ้นสุดของอุตสาหกรรม ซึ่งแนวโน้มสามารถพัดพาไปได้หลากหลายเส้นทาง และท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น ท่าเรือแหลมฉบัง ภายใต้การนำของคุณยุทธนา ก็พร้อมที่จะปรับตัวและเปิดรับสิ่งใหม่ พร้อมเติบโตขึ้นบนรากฐานที่มั่นคง “ผมมองว่าโลกเปลี่ยนแปลงค่อนข้างเร็ว ท่าเรือแหลมฉบังเองก็เดินหน้าไปอย่างรวดเร็วด้วย เราจึงต้องตระหนักและประเมินความเสี่ยงอยู่เสมอ” คุณยุทธนากล่าวปิดท้าย  

อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Logistics Mananger เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Logistics Manager หรือคลิกที่นี่

บทความก่อนหน้านี้TIPS จัดทำแอปพลิเคชั่น เพื่อตรวจสอบข้อมูลตู้สินค้า บนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์
บทความถัดไปMaersk ขยายสัญญา 4PL กับ Syngenta