ปี 2020 นับเป็นปีที่ยากลำบากของผู้คนทั่วโลก วิกฤตการณ์แพร่ระบาดของ COVID-19 ได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมหลายภาคส่วน ไม่เว้นแม้กระทั่งอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ที่เป็นหนึ่งในรากฐานของสังคมมนุษย์ยุคปัจจุบัน เนื่องจากปริมาณสินค้าโดยรวมทั่วโลกที่ปรับตัวลดลง
อย่างไรก็ตามในช่วงเวลาแห่งความยากลำบาก Kerry-Apex ผู้ให้บริการขนส่งสินค้าแบบ NVOCC และ Logistics Provider ในเส้นทาง Trans-Pacific Trade ในเครือ Kerry Logistics Network กลับสามารถเติบโตและรั้งอันดับหนึ่งในฐานะผู้ให้บริการ NVOCC ในเส้นทางเอเชีย-สหรัฐอเมริกาตั้งแต่ในช่วงเดือนมกราคมถึงกรกฎาคม 2020 ได้อย่างสง่าผ่าเผย ด้วยตัวเลขการเติบโตกว่า 9 เปอร์เซ็นต์จากปี 2019 ขณะที่ตลาดโดยรวมหดตัวลงถึง 5 เปอร์เซ็นต์
ที่น่าตื่นเต้นไปกว่านั้น คือผลงานของ Kerry-Apex ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งนับว่าเป็นกำลังหลักในการเติบโตดังกล่าว นิตยสาร LM ฉบับนี้ จึงได้มาพูดคุยกับ คุณฐิการ ศุภวิรัชบัญชา กรรมการผู้จัดการบริษัท Kerry-Apex ประเทศไทยและผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Director of Southeast Asia )เพื่อเรียนรู้เคล็ดลับเบื้องหลังการเติบโตอย่างแข็งแกร่งของ Kerry-Apex ที่สวนทางกับกระแสการค้าที่หดตัวลงทั่วโลก และบทบาทของสำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในความสำเร็จดังกล่าว
Surprising Growth of US Trade
Kerry-Apex ถือกำเนิดขึ้นเมื่อปี 2016 จากการร่วมมือกันระหว่าง Apex Maritime และ Kerry Logistics Network และถือได้ว่าเป็นหนึ่งในผู้ให้บริการขนส่งตู้สินค้าแบบ NVOCC ชั้นนำในเอเชีย ยิ่งไปกว่านั้น สถานการณ์การค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา รวมทั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ก็มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้ Kerry-Apex ยกระดับการบริการของตนเองมากยิ่งขึ้นไปอีก เพื่อขยายขีดความสามารถในการแข่งขันด้วยบริการที่หลากหลายในฐานะ Logistics Provider
คุณฐิการกล่าวว่า “นับตั้งแต่เกิดสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา ปริมาณสินค้าในเส้นทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกาก็ค่อยๆ ปรับตัวลดลง จนกระทั่งช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา การแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้ ปริมาณสินค้าจากประเทศจีนได้ปรับตัวลดลงอย่างมาก และส่งผลทำให้พื้นที่ระวางสินค้าในเส้นทางการขนส่งสินค้าจากจีนไปยังสหรัฐอเมริกาหดตัวลง เนื่องจากสายเรือต้องปรับลด Capacity สร้างแรงกระทบไปยังตลาดโดยรวมทั้งหมด”
“อย่างไรก็ตาม แม้ปริมาณสินค้าส่งออกจากจีนไปยังสหรัฐอเมริกาจะปรับตัวลดลง แต่ความต้องการอุปโภคบริโภคสินค้าจากสหรัฐอเมริกาไม่ได้ปรับตัวลดลงไปด้วย โดยเฉพาะความต้องการสินค้าอาหาร (Food Stuff) เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) อาทิ หน้ากากอนามัย ชุดป้องกันเชื้อโรค รวมไปถึงสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภคอื่นๆ ในช่วงการล็อกดาวน์ ทำให้ต้องมีการมองหาแหล่งสินค้าใหม่ ซึ่งก็คือภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของเรา”
Strong Presence in SEA Region
ในขณะที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้กลายมาเป็นแหล่งส่งออกสินค้าแห่งใหม่ที่สำคัญของสหรัฐอเมริกาในช่วงวิกฤติ COVID-19 ทว่า หากไม่มีทีมงานที่แข็งแกร่งและมากประสบการณ์เป็นพื้นฐาน และการวางแผนทางธุรกิจที่ดี การจะได้มาซึ่งธุรกิจย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย ซึ่ง Kerry-Apex นั้นมีพร้อมทั้งความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในภูมิภาคนี้มากกว่าสิบปี
เมื่อเราทราบว่าความต้องการสินค้าจากประเทศจีน ถูกเปลี่ยนมายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทีมงานของเราก็ได้ทำงานอย่างหนักในการตอบสนองความต้องการสินค้าเหล่านั้น
คุณฐิการกล่าวว่า “เมื่อเราทราบว่าความต้องการสินค้าจากประเทศจีน ถูกเปลี่ยนมายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทีมงานของเราก็ได้ทำงานอย่างหนักในการตอบสนองความต้องการสินค้าเหล่านั้น ด้วยรากฐานความสัมพันธ์กับลูกค้าที่แข็งแกร่ง รวมทั้งประสบการณ์การในภูมิภาคนี้กว่าสิบปี ทำให้ปริมาณสินค้าของเราในช่วงเจ็ดเดือนแรกของปี 2020 เพิ่มสูงขึ้นถึง 35 เปอร์เซ็นต์ และเมื่อรวมกันทั้งเอเชีย ตัวเลขการเติบในเส้นทางดังกล่าวก็ปรับตัวสูงขึ้นถึง 9 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งเมื่อเทียบกับสภาพตลาดโดยรวมแล้ว ก็ต้องถือว่าเป็นตัวเลขการเติบโตที่น่าพึงพอใจเป็นอย่างมาก”
“ในส่วนของประเทศไทย แม้การส่งออกสินค้าในเส้นทางอื่นๆ จะปรับตัวลดลง แต่สำหรับเส้นทางการส่งออกสินค้าไปสหรัฐอเมริกากลับขยายตัวกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ โดยสินค้าหลักที่มีการส่งออกประกอบไปด้วย ผลิตภัณฑ์อาหาร ยางรถยนต์ และอุปกรณ์โซลาร์เซลล์”
“โดยในช่วงเดือนมีนาคม เมษายน และพฤษภาคมที่ผ่านมา สินค้าประเภทผลิตภัณฑ์อาหารมีปริมาณการส่งออกเพิ่มสูงขึ้นเกือบสองเท่า ขณะที่ตัวเลขการส่งออกยางรถยนต์และอุปกรณ์โซลาร์เซลล์ไปยังสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้น เนื่องจากการที่ผู้ผลิตย้ายฐานการผลิตจากจีนมายังประเทศไทย รวมทั้งมีการเร่งการส่งออกยางรถยนต์ ก่อนที่กระบวนการสอบสวนการทุ่มตลาดยางรถยนต์ในสหรัฐฯ จะเสร็จสิ้นในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบให้ราคายางรถยนต์ปรับตัวสูงขึ้น”
“นอกจากสินค้าข้างต้นแล้ว ผลิตภัณฑ์จากยางพารา เช่น ถุงมือยาง ถุงยางอนามัย และอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่างๆ ก็มีปริมาณการส่งออกที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน ซึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การส่งออกผลิตภัณฑ์เหล่านี้ค่อนข้างซบเซาจากการแข่งขันโดยผู้ผลิตในประเทศอื่นๆ แต่ความต้องการที่เกิดขึ้นจากวิกฤต COVID-19 ทำให้ธุรกิจดังกล่าวในประเทศไทยได้มีโอกาสเติบโตทางธุรกิจขึ้นอีกครั้ง”
Shortage of Space, Booking in Advance
เป็นที่ทราบกันดีว่าในสถานการณ์ปัจจุบัน พื้นที่ระวางบนเรือบรรทุกสินค้ายังคงมีปัญหาขาดแคลน สำหรับเส้นทางการเดินเรือจากภูมิภาคเอเชียเข้าสหรัฐอเมริกา (Trans-Pacific Trade) ทำให้ผู้นำเข้าส่งออกหลายรายต้องประสบปัญหา ไม่สามารถดำเนินการขนส่งสินค้าได้ตามเป้านั้น
ในฐานะผู้ให้บริการขนส่งสินค้าแบบ NVOCC และ Logistics Provider ชั้นนำ คุณฐิการ ได้ให้คำแนะนำในการหลีกเลี่ยงปัญหาดังกล่าวว่า “ตอนนี้พื้นที่ระวางสินค้าในตลาดมีความเป็นไปได้ที่จะขาดแคลนไปจนถึงช่วงปลายเดือนกันยายน ซึ่งหากลูกค้าต้องการใช้บริการขนส่งสินค้า ควรจองพื้นที่ล่วงหน้าอย่างน้อยสามหรือสี่สัปดาห์ในช่วงเวลานี้” และยังอธิบายเพิ่มเติมอีกว่า
“ในปัจจุบันไม่มีใครสามารถคาดการณ์ได้ว่าปัญหานี้จะจบลงเมื่อไหร่ ทั้งหมดขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 และตลาดโดยรวมของโลก ซึ่งเราก็ต้องมีการติดตามสถานการณ์อีกครั้งในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2020 ที่จะถึงนี้”
Conclusion
ความสำเร็จของ Kerry-Apex ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจทั่วโลกกำลังอยู่ในภาวะถดถอย เป็นผลมาจากวิสัยทัศน์และการตัดสินใจที่รวดเร็วในการคว้าโอกาสสำคัญจากสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงของตลาดโลก
และที่สำคัญก็คือ การทำงานที่หนักด้วยความจริงใจกับลูกค้าของ Sales Executive ทั้งหมด และทีมงานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งตลาดอื่นๆ ในเอเชีย ที่ใช้เวลาสั่งสมมานับสิบปี ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญต่อความสำเร็จของบริษัทฯ ในช่วงที่ผ่านมา
แม้จะยังไม่มีใครทราบว่าวิกฤติเศรษฐกิจนี้จะดำเนินไปจนถึงเมื่อใด แต่ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร ด้วยสายสัมพันธ์อันดีกับสายการเดินเรือ (Partners) รวมทั้งการมีทีมงานที่มีประสิทธิภาพ ประสบการณ์ทำงาน Kerry– Apex พร้อมที่จะเผชิญกับความท้าทายที่กำลังจะมาถึง และมอบประสบการณ์การใช้บริการที่ดีที่สุดแก่ลูกค้าทุกท่านได้อย่างแน่นอน
อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Logistics Mananger เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Logistics Manager หรือคลิกที่นี่