Hutchison Ports Thailand เปิดท่าเทียบเรือ ชุด D ท่าเทียบเรือที่ทันสมัยที่สุดในไทยอย่างเป็นทางการ

0
4373

บริษัท ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย (HPT) ผู้ประกอบการท่าเทียบเรือรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และทันสมัยที่สุดในท่าเรือแหลมฉบัง เฉลิมฉลองการเปิดให้บริการท่าเทียบเรือ ชุด D ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาที่มีการวางแผนและเตรียมการมาอย่างยาวนาน เมื่อวันที่ 30 มกราคมที่ ผ่านมา โดยถือเป็นอีกก้าวย่างสำคัญของบริษัทฯ อีกทั้งยังเป็นอีกหน้าประวัติศาสตร์ที่อุตสาหกรรมการขนส่งสินค้าทางเรือของไทยและทั่วโลกต้องจารึกไว้ เนื่องจากท่าเทียบเรือ ชุด D แห่งนี้ ถือเป็นท่าเทียบเรือตู้สินค้าแห่งแรกของโลก ที่ปฏิบัติการด้วยปั้นจั่นยกตู้สินค้าหน้าท่าควบคุมการปฏิบัติงานจากระยะไกล (RCQC) และปั้นจั่นยกตู้สินค้าในลานแบบล้อยางควบคุมการปฏิบัติงานจากระยะไกล (RCeRTGC)

พิธีเปิดตัวท่าเทียบเรือฯ เมื่อวันที่ 30 มกราคม ถือเป็นการเริ่มต้นการปฏิบัติการในเฟสแรกของท่าเทียบเรือ ชุด D ที่มีความยาวหน้าท่าถึง 400 เมตร  อย่างเป็นทางการ โดยในปัจจุบันปฏิบัติการด้วยปั้นจั่นยกตู้สินค้าหน้าท่า จำนวนสามตัว และปั้นจั่นยกตู้สินค้าในลานแบบล้อยาง จำนวน 10 ตัว ซึ่งทั้งหมดปฏิบัติการด้วยเทคโนโลยีควบคุมระยะไกล โดยการเปิดดำเนินการในเฟสแรกนี้ เผยให้เห็นถึงภาพในอนาคตเมื่อท่าเทียบเรือ ชุด D ทั้งโครงการสามารถปฏิบัติการได้โดยสมบูรณ์

Mr. Stephen Ashworth กรรมการผู้จัดการ Hutchison Ports ประจำประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า “ภายในสิ้นปีนี้ ท่าเทียบเรือเฟสแรกของเราจะสามารถปฏิบัติการได้อย่างเต็มรูปแบบ โดยจะมีพื้นที่ปฏิบัติการหน้าท่าความยาว 1,000 เมตร ปั้นจั่นยกตู้สินค้าหน้าท่า 6 ตัว และปั้นจั่นยกตู้สินค้าในลานแบบล้อยาง 20 ตัว ทั้งหมดปฏิบัติการโดยใช้เทคโนโลยีควบคุมจากระยะไกลทั้งหมด”

เมื่อการพัฒนาแล้วเสร็จโดยสมบูรณ์ ท่าเทียบเรือ ชุด D จะมีพื้นที่ปฏิบัติการหน้าท่าความยาว 1,700 เมตร ประกอบด้วย ปั้นจั่นยกตู้สินค้าหน้าท่า จำนวน 17 ตัว และปั้นจั่นยกตู้สินค้าในลานแบบล้อยาง จำนวน 43 ตัว ซึ่งปฏิบัติการด้วยเทคโนโลยีควบคุมจากระยะไกลทั้งหมด เพื่อรองรับเรือขนส่งตู้สินค้าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในปัจจุบัน

The Push for Innovation

Mr. Stephen Ashworth กรรมการผู้จัดการ Hutchison Ports ประจำประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

จากการสนทนากับ Mr. Ashworth ทำให้เราได้ทราบว่า Hutchison Ports มีแผนที่จะพัฒนาท่าเทียบเรือ ชุด D ขึ้นมาโดยใช้เทคโนโลยีใหม่ล่าสุดตั้งแต่ต้น ซึ่ง Mr. Ashworth เปิดเผยว่ามีปัจจัยสำคัญสามประการที่ใช้ในการตัดสินใจครั้งนี้ นั่นก็คือ การยกระดับความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และประสิทธิภาพในการปฏิบัติการ

ในประเด็นแรกนั้น เนื่องจากนโยบายของ Hutchison Ports ทั่วโลกมีความมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำ ของอุตสาหกรรมฯ และให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของบุคลากร รวมทั้งสินค้าที่ลูกค้าไว้วางใจมอบให้บริษัทฯ ดูแลอย่างจริงจัง ซึ่ง Mr. Ashworth ระบุว่า ในอดีตนั้นอัตราการเกิดอุบัติเหตุภายในท่าเทียบเรือตามมาตรฐานของ

บริษัทฯ ในแหลมฉบังนั้นสูงกว่าอัตราที่กำหนด ซึ่งก็เป็นธรรมชาติของการปฏิบัติการโดยบุคลากร รวมทั้งประเด็นด้านความต้องการเพิ่มประสิทธิภาพในการยกขนตู้สินค้า “ปั้นจั่นยกตู้สินค้าที่ใช้ปฏิบัติการในท่าเทียบเรือ ชุด D ทุกตัว มีคุณสมบัติพิเศษที่สามารถป้องกันการชนกันได้ โดยอาศัยเซ็นเซอร์และเทคโนโลยี CCTV นั่นก็คือการที่เรานำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาแก้ปัญหาด้านความปลอดภัยที่เกี่ยวข้องกับปั้นจั่นยกตู้สินค้า”

ในด้านสิ่งแวดล้อม ปั้นจั่นยกตู้สินค้าที่ปฏิบัติการด้วยเทคโนโลยีควบคุมจากระยะไกล จะมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าปั้นจั่นยกตู้สินค้าแบบมาตรฐาน ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา Hutchison Ports ได้พยายามอย่างมาก ในการยกระดับความมีประสิทธิภาพด้านผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (environmental footprint) ของบริษัทฯ โดยการลงทุนในเทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืน และในท้ายที่สุดแล้ว การนำปั้นจั่นยกตู้สินค้าที่ปฏิบัติการด้วยเทคโนโลยีควบคุมจากระยะไกล มาใช้ปฏิบัติการในท่าเทียบเรือ ชุด D จะช่วยลดปริมาณการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนและระดับมลภาวะทางเสียงได้อย่างมีนัยยะสำคัญ

ในเชิงการปรับปรุงกระบวนการปฏิบัติงานและการยกระดับประสิทธิภาพการทำงานนั้น ระบบอัตโนมัติได้รับการพิจารณาว่ามีประสิทธิภาพเหนือกว่าการปฏิบัติการโดยบุคลากร ยกตัวอย่างเช่น ปั้นจั่นยกตู้สินค้าหน้าท่าควบคุมการปฏิบัติงานจากระยะไกล สามารถยกขนตู้สินค้าได้ถึง 30 ครั้งต่อชั่วโมง ซึ่งเหนือกว่าการปฏิบัติการโดยปั้นจั่นยกตู้สินค้าหน้าท่าแบบมาตรฐานที่บังคับโดยพนักงานผู้ปฏิบัติการถึง 20 เปอร์เซ็นต์โดยประมาณ ด้วยเหตุนี้การตัดสินใจเลือกใช้ปั้นจั่นยกตู้สินค้าหน้าท่าปฏิบัติงานด้วยเทคโนโลยีควบคุมจากระยะไกล ในท่าเทียบเรือ ชุด D จึงเป็นเรื่องที่มีความสมเหตุสมผลอย่างชัดเจน

อย่างไรก็ตาม วัตถุประสงค์ในการออกแบบและปฏิบัติการในท่าเทียบเรือ ชุด D ภายใต้ระบบอัตโนมัตินั้น ไม่ได้รวมถึงประเด็นเรื่องการลดต้นทุนในการปฏิบัติการ ในทางตรงกันข้าม Mr. Ashworth เปิดเผยว่าการปฏิบัติการท่าเทียบเรือแบบกึ่งอัตโนมัติในประเทศไทยนั้นมีต้นทุนต่อชั่วโมงการปฏิบัติงานที่สูงกว่าการปฏิบัติการโดยบุคลากร “ในเรื่องนี้นั้น การลดต้นทุนการปฏิบัติการ ไม่ใช่ประเด็นที่เรานำมาร่วมพิจารณา เนื่องจาก HPT เล็งเห็นถึงผลประโยชน์ด้านอื่นในการใช้ประโยชน์จากปั้นจั่นยกตู้สินค้าที่ปฏิบัติการด้วยระบบควบคุมจากระยะไกล ซึ่งเราได้พิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้วว่าเหนือกว่าต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการนำเทคโนโลยีเหล่านี้เข้ามาใช้งาน”

Mr. Ashworth อธิบายเหตุผลสำคัญที่ HPT เลือกพัฒนาท่าเทียบเรือ ชุด D ให้เป็นท่าเทียบเรือที่เปี่ยมด้วยนวัตกรรม ก็เนื่องมาจากการที่สามารถออกแบบวางแผนได้ตั้งแต่เริ่มต้นโดยไม่มีข้อจำกัด โดยเน้นไปที่การตอบสนองความต้องการด้านธุรกิจของสายการเดินเรือ Mr. Ashworth ยังย้ำอีกว่า แนวโน้มในปัจจุบันนั้นประเทศไทยจะต้องรองรับเรือขนส่งสินค้าที่มีขนาดระวางใหญ่ขึ้น ดังนั้น การจัดเตรียมปั้นจั่นยกตู้สินค้าหน้าท่าที่มีศักยภาพอย่างเหมาะสมจึงเป็นเรื่องจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

ในกรณีนี้การเลือกปรับปรุงท่าเทียบเรือมาตรฐานที่มีการปฏิบัติการอยู่แล้วจะเป็นกระบวนการที่มีความซับซ้อนและท้าทายมากกว่า และนี่ก็เป็นคำตอบและคำอธิบายไปในตัวว่า HPT ไม่มีแผนที่จะปรับปรุงท่าเทียบเรือ A2, A3 และท่าเทียบเรือ C1C2 ของบริษัทฯ ในท่าเรือแหลมฉบังให้เป็นเหมือนกับท่าเทียบเรือ ชุด D โดยท่าเทียบเรืออื่นๆ ดังกล่าว จะยังคงปฏิบัติการในแบบเดิมตามมาตรฐานของอุตสาหกรรมฯ ต่อไป เพื่อให้บริการแก่เรือขนส่งตู้สินค้าที่มีขนาดเหมาะสมกับศักยภาพในการปฏิบัติการของท่าเทียบเรือแต่ละแห่ง

Future Focused Investment

ท่าเทียบเรือ ชุด D ถือเป็นตัวแทนสำหรับนวัตกรรมใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนในประเทศไทย หรือถ้าจะกล่าวว่านวัตกรรมใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนในโลกนี้ก็ยังไม่เป็นการกล่าวที่เกินความจริง โดย Mr. Ashworth กล่าวย้ำถึงวิสัยทัศน์ของ Hutchison Ports ในการผลักดันเพื่อนำเอานวัตกรรมแห่งอนาคตมาใช้ประโยชน์ในครั้งนี้ว่า “การดำเนินการครั้งนี้ ถือเป็นการลงทุนเพื่อปูรากฐานสำหรับการปฏิบัติการในระยะยาวของท่าเทียบเรือ ชุด D ถึงแม้ว่าบทวิเคราะห์จำนวนมากจะคาดการณ์ถึงภาวะเศรษฐกิจโลกที่กำลังชะลอตัว หากแต่เรากำลังมองข้ามสภาวการณ์เฉพาะหน้านี้ไปสู่อนาคตในระยะยาว ซึ่งพวกเราก็มีความภาคภูมิใจกับการตัดสินใจของเราในครั้งนี้”

ความภาคภูมิใจของ Hutchison Ports ในครั้งนี้ ได้รับการตอบรับอย่างดีจากอุตสาหกรรม โดยนอกจากที่จะเป็นท่าเทียบเรือที่ปฏิบัติการด้วยระบบควบคุมระยะไกลโดยสมบูรณ์แห่งแรกของโลกแล้ว ยังเป็นการสะท้อนถึงการลงทุนเพื่อตอบสนองความต้องการของพันธมิตรสายการเดินเรือ ด้วยการมอบบริการที่ดีที่สุดเท่าที่เคยมีในอุตสาหกรรมฯ

โดย Mr. Ashworth กล่าวว่า “ปั้นจั่นยกตู้สินค้าของเราสามารถรองรับเรือขนส่งสินค้ารุ่นใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยไม่มีข้อสงสัย ซึ่งสามารถปฏิบัติงานยกขนตู้สินค้ากับเรือขนส่งตู้สินค้าบนระวางได้กว้างถึง 24 แถว ซึ่งเป็นระยะที่กว้างที่สุดในปัจจุบัน เราจึงสามารถยกขนตู้สินค้าที่วางกองอยู่ ด้านไกลสุดของเรือขนส่งตู้สินค้าได้ และจากแนวโน้มในปัจจุบัน ผมก็ไม่คิดว่าสายการเดินเรือจะนำชั้นเรือที่มีขนาดระวางมากกว่า 14,000 ทีอียู มาเข้าเทียบท่าที่ท่าเทียบเรือ ชุด D ซึ่งก็หมายความว่าท่าเทียบเรือแห่งนี้จะสามารถตอบสนองต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้นของลูกค้าสายการเดินเรือได้อีกยาวนาน”

ปัจจัยสำคัญอีกประการที่ถูกนำมาร่วมพิจารณา ในการผลักดันนวัตกรรมครั้งนี้ก็คือ ความปลอดภัยและสวัสดิภาพของพนักงาน ซึ่งก็หมายถึงเจ้าหน้าที่ ผู้ปฏิบัติการปั้นจั่นยกตู้สินค้าหน้าท่าควบคุมการปฏิบัติงานจากระยะไกล และปั้นจั่นยกตู้สินค้าในลานแบบล้อยางควบคุมการปฏิบัติงานจากระยะไกล โดย Mr. Ashworth กล่าวว่า “เรื่องนี้ผมต้องบอกว่าคนที่มีความสุขและพึงพอใจมากที่สุดก็คือ พนักงานผู้ปฏิบัติการ ภายในศูนย์ควบคุมกลางของเราที่ตั้งอยู่เหนือประตูเข้าออกของท่าเทียบเรือ ชุด D นั้น มีบรรยากาศเหมือนสำนักงานทั่วไป ซึ่งมีความสะดวกสบายและพนักงานทุกคนก็ดูมีความสุขในการทำงาน อย่างไรก็ตาม พนักงานผู้ปฏิบัติการ ของเราซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติการปั้นจั่นยกตู้สินค้าแบบมาตรฐานที่ได้รับการรับรอง ต่างก็สับเปลี่ยนกันไปปฏิบัติงานในท่าเทียบเรือปกติของเราในท่าเรือแหลมฉบังด้วย ซึ่งเป็นการสะท้อนถึงทัศนคติความเป็นมืออาชีพของพวกเขา”

ดังนั้น การเปิดตัวท่าเทียบเรือ ชุด D อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 30 มกราคม ที่ผ่านมา จึงนับเป็นบันทึกประวัติศาสตร์อีกหน้าที่สำคัญของ บริษัท ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย, ท่าเรือ แหลมฉบัง รวมทั้งประเทศไทยด้วย ซึ่ง Mr. Ashworth ยังได้เน้นย้ำอีกครั้งว่า นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งในเฟสแรกของนวัตกรรมที่ทางบริษัทฯ จะนำมาให้บริการแก่ประเทศไทยและสายการเดินเรือทั่วโลกเท่านั้น

อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Logistics Mananger เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Logistics Manager หรือคลิกที่นี่

บทความก่อนหน้านี้บทสัมภาษณ์ ดร. พันเทียน สื่อทรงธรรม คนไทยที่ได้มีโอกาสปฏิบัติงานในท่าเรือ Hamburg เยอรมนี
บทความถัดไปSwisslog ผู้ให้บริการโซลูชั่นระบบอัตโนมัติชั้นนำของโลก พร้อมขยายตลาดในประเทศไทย
Pichanon Paoumnuaywit
tech and history geek, who enjoys hunting and photographing dark skies and milky way