ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือหรืออุปกรณ์ใดๆ ก็ตาม หากได้รับการดูแลอย่างถูกวิธีและเหมาะสมก็สามารถยืดอายุการใช้งานและช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถใช้งานเครื่องมือนั้นได้ยาวนานขึ้น โดยเฉพาะรถที่มีหน้าที่ยกขนสินค้าในอุตสาหกรรมต่างๆ และเป็นฟันเฟืองสำคัญในกระบวนการทำงานทั้งในคลังสินค้าและโรงงานผลิต ซึ่งควรได้รับการดูแลถูกวิธีอย่าง รถฟอร์คลิฟต์ ซึ่งหากเกิดการชำรุดหรือขัดข้องอาจส่งผลกระทบต่อกระบวนการทำงานทั้งหมดได้
ผู้ปฏิบัติการคลังสินค้า ท่าเรือ หรือโรงงานผู้ผลิตส่วนใหญ่มักเลือกใช้รถยี่ห้อดี มีคุณภาพ และได้รับการรับรองมาตรฐาน เพื่อเป็นการการันตีประสิทธิภาพการใช้งาน แต่คุณรู้หรือไม่ว่า แท้จริงแล้วไม่ว่ารถยกขนสินค้าที่เลือกใช้จะมีคุณภาพดีมากขนาดไหน หากผู้ปฏิบัติงานใช้รถผิดวิธีหรือผิดประเภท รถที่ดีก็ไม่อาจจะมีอายุการใช้งานที่ยาวนานหรือปฏิบัติงานได้เต็มศักยภาพที่แท้จริงได้
เพื่อให้ทราบวิธีการใช้งานที่ถูกต้องและขั้นตอนการดูแลรถยกขนสินค้าที่เหมาะสม LM จึงถือโอกาสนี้พูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์โดยตรงกับรถฟอร์คลิฟต์ อาทิ คุณประธานวงศ์ พรประภา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สยามกลการอุตสาหกรรม จำกัด หนึ่งในผู้นำธุรกิจนำเข้าและจัดจำหน่ายรถยก UniCarriers และคุณสุชาติ ฉายพิมาย ผู้จัดการทั่วไป ฝ่ายขายและเช่ารถยก บริษัท ดิลกและบุตร จำกัด ตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการของรถยกสินค้ายี่ห้อ Hyster เพื่อสอบถามเกี่ยวกับข้อควรปฏิบัติในการดูแลรถยกขนสินค้า รวมทั้งข้อผิดพลาดที่มักเกิดขึ้นบ่อยๆ ที่ควรหลีกเลี่ยงเพื่อยืดอายุการใช้งานให้นานกว่าเดิม
How Often Should Forklifts Be Checked and Maintained?
รถยกขนสินค้ามีการแบ่งหมวดหมู่ตามลักษณะการใช้งาน ทั้งรถไฟฟ้า รถที่ใช้ในพื้นที่แคบ (reach truck) หรือรถเดินตาม (stacker) ซึ่งปัจจุบันผู้ผลิตได้ทำการพัฒนาและออกแบบรถมาหลากหลายให้ผู้ใช้งานได้เลือกใช้ตามความเหมาะสม อย่างไรก็ตาม แม้ระบบและลักษณะของรถจะได้รับการพัฒนามากขึ้นเพียงใด แท้จริงแล้วสิ่งที่ผู้ปฏิบัติการควรทำความเข้าใจก็คือ หัวใจสำคัญที่จะรักษาอายุการใช้งานของรถไว้ได้ ต้องเกิดจากคนขับที่ต้องเข้าใจการทำงานของรถให้ถูกต้อง รวมทั้งควรทำการตรวจสภาพรถอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันความชำรุดเสียหายและความเสี่ยงที่ทำให้กระบวนการทำงานหยุดชะงัก
ในส่วนของการตรวจสภาพรถ คุณสุชาติได้อธิบายคร่าวๆ ว่า “รถยกขนสินค้าแต่ละประเภทต้องการการดูแลและมีระยะการซ่อมบำรุงที่ต่างกัน ขึ้นอยู่กับโรงงานผลิตเป็นผู้กำหนด ซึ่งโดยทั่วไปวิธีการดูแลรถฟอร์คลิฟต์มีทั้งหมด 3 วิธี ได้แก่ การบำรุงรักษาเชิงแก้ไข (repair maintenance) การบำรุงรักษาเชิงป้องกัน (preventive maintenance) และการบำรุงรักษาเชิงรุก (proactive maintenance) โดยการบำรุงรักษาเชิงแก้ไข เป็นการดูแลรถที่ทำการซ่อมรถเมื่อมีความเสียหาย การบำรุงรักษาเชิงป้องกัน เป็นการนำรถไปซ่อมบำรุงเมื่อครบกำหนดชั่วโมงที่บริษัทผู้ผลิตแจ้ง ซึ่งในส่วนนี้บริษัทผู้ผลิตสามารถนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ยืดอายุของรถได้ สำหรับรถยกสินค้าของ Hyster เรากำหนดไว้ที่ 500 ชั่วโมง จากเดิมที่มีเพียง 300 ชั่วโมง ซึ่งเมื่อครบกำหนดก็จะมีการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง หรือตรวจเช็คระบบต่างๆ เพื่อป้องกันไม่ให้รถเสียหายก่อนระยะเวลา ซึ่งหากดูแลรถในสภาพดี รถก็จะอยู่กับเราได้นาน แต่ถ้าลูกค้าดูแลไม่ดี รถซึ่งควรจะอยู่กับเราได้เป็นสิบปี อายุของรถก็อาจเหลือแค่ห้าปีหรือน้อยกว่านั้น และวิธีสุดท้ายคือ การบำรุงรักษาเชิงรุก เป็นการตรวจเช็คดูแลรถยกสำหรับลูกค้าที่มีความต้องการในความปลอดภัยขั้นสูง สำหรับบริษัทที่หากเกิดความเสียหายแล้วจะมีผลกระทบสูงหรืออาจเกิดอุบัติเหตุจากการชำรุดของอุปกรณ์ที่มีความร้ายแรงมาก เช่น ธุรกิจประเภทแท่นเจาะน้ำมันหรือโรงกลั่นน้ำมัน โรงซ่อมเครื่องบิน เป็นต้น ซึ่งจะมีการตรวจสอบความล้าของตัวรถว่ายังสามารถรองรับน้ำหนักได้อยู่ไหม รับน้ำหนักแล้วมีความเสถียรหรือไม่ ตรวจสอบรอยแตกต่างๆ ความหนาและความแข็งแรงของโครงสร้างโลหะในจุดต่างๆ ที่มีการรับแรง”
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการกำหนดชั่วโมงการซ่อมบำรุง แต่รถที่ใช้งานต่างกันก็อาจถึงระยะชั่วโมงที่ต่างกันด้วย คุณประธานวงศ์ กล่าวว่า “รถทุกโมเดลจะมีระยะชั่วโมงที่กำหนดอยู่แล้วว่าจะต้องเข้ารับการตรวจสภาพตอนไหน โดยมีตั้งแต่ 500 ถึง 1,000 ชั่วโมง หรือบางที 2,000 ชั่วโมงก็ได้ แต่อาจมีความแตกต่างในเรื่องของลักษณะการใช้งานของลูกค้า รถโมเดลเดียวกันอาจมีการใช้งานที่ต่างกัน บางคันอาจต้องการการดูแลเพิ่ม ดูระยะชักรอก สายไฮดรอลิก ระบบ LPG ซึ่งต้องประเมินจากสภาพแวดล้อมการทำงานของลูกค้า อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นรถรุ่นไหน เมื่อใช้งานถึงระยะเวลาที่กำหนดก็ต้องเข้ารับการตรวจสภาพและเปลี่ยนอะไหล่ แม้ว่าอะไหล่ในส่วนนั้นจะยังไม่พัง แต่ก็ต้องเปลี่ยนเพื่อป้องกันการชำรุดที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต”
What are Common errors that occur When Operating Forklifts?
สำหรับการตรวจสภาพรถ ปัญหาที่พบเจอบ่อยมักจะเกี่ยวข้องกับลักษณะการใช้งานและการขับขี่ของคนขับ โดยคุณสุชาติ กล่าวว่า “ปัญหาที่เรามักพบอย่างแรกคือ ระบบขับเคลื่อน รถฟอร์คลิฟต์เป็นระบบเปลี่ยนเกียร์ด้วยไฟฟ้า (Powershift) ซึ่งจะทำให้การเปลี่ยนทิศทางเดินหน้าหรือถอยหลังทำได้ง่ายเพียงปลายนิ้ว เมื่อคนขับต้องการจะเปลี่ยนทิศทางก็เพียงใช้แค่ปลายนิ้ว และคนขับส่วนหนึ่งมักจะไม่ใช้เบรคในการหยุดรถ แต่จะใช้การควบคุมให้รถวิ่งกลับในทิศทางตรงกันข้าม เราจะสังเกตได้จากการหมุนฟรีของล้อ ซึ่งจะทำให้ระบบขับเคลื่อนเสียหาย ไม่ว่าจะเป็นเกียร์ เฟืองท้าย และเพลาขับ และเป็นการสิ้นเปลืองยาง อย่างที่สองคือ การขับรถด้วยความเร็วเกินกว่าที่กำหนด รถฟอร์คลิฟต์ถูกออกแบบมาสำหรับการยกขนสินค้า เมื่อเรายกขนสินค้าที่มีน้ำหนักมากและขับด้วยความเร็วสูง รถมีโอกาสที่จะพลิกคว่ำสูงมาก ซึ่งปัจจุบันก็มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เช่น การติดตั้งเซ็นเซอร์ตรวจจับและควบคุมความเร็ว เพื่อป้องกันไม่ให้คนขับขับเกินความเร็วที่กำหนดในแต่ละพื้นที่ควบคุม”
คุณสุชาติ กล่าวเสริมว่า “หัวใจสำคัญของการรักษาคุณภาพและประสิทธิภาพของรถ ไม่ใช่ปัจจัยอื่นใดนอกจากผู้ที่ใช้งานรถในทุกๆ วันอย่างคนขับรถ คนขับรถคือผู้ที่อยู่กับรถในทุกวัน เพราะฉะนั้นในแต่ละวัน คนขับจะต้องดูแลรักษารถที่ตนใช้งานอย่างสม่ำเสมอ เราจะต้องฝึกคนขับว่า ก่อนขับรถต้องตรวจสอบอะไรบ้าง ต้องให้เขาเดินรอบคันและตรวจดูสภาพรถอย่างรอบคอบและถี่ถ้วน ทั้งเครื่องยนต์ น้ำมัน น้ำมันเกียร์ หม้อน้ำ รวมทั้งสภาพภายนอกรถว่ามีความเสียหายตรงจุดไหนหรือไม่ เพื่อเลี่ยงโอกาสเกิดอุบัติเหตุ เช่น ล้อรถมีรอยฉีกขาดหรือไม่ หรือว่างามีรอยแตกจากการใช้งานเกินน้ำหนักไหม เมื่อขึ้นขับแล้วก็ต้องดูระบบการเดินหน้า ถอยหลัง ระบบเบรก เบรกมือ และเมื่อทำยกขนสินค้าก็ต้องประเมินน้ำหนักและขนาดของสินค้าว่าเป็นอย่างไร ต้องมีการยกขนในลักษณะไหน ถ้ามีการจัดวางสินค้าที่ไม่สมดุลก็มีโอกาสที่รถจะพลิกคว่ำได้ ดังนั้น เราต้องให้ความรู้และฝึกฝนคนขับรถให้รู้ถึงข้อปฏิบัติที่ถูกต้อง เพราะว่าคนขับรถมีความสำคัญมาก ถึงรถจะดีแค่ไหน แต่ถ้าคนขับปฏิบัติการไม่ถูกต้อง รถย่อมเสียหาย จากประสบการณ์ของผม รถที่มีการดูแลอย่างดีก็สามารถใช้งานได้ยาวนานถึง 20 ปีก็มี”
นอกเหนือจากการปฏิบัติงานที่ถูกต้องของคนขับรถแล้ว การเลือกรถที่ถูกต้องและเหมาะกับงานก็มีความสำคัญเช่นกัน คุณประธานวงศ์ กล่าวว่า “การเลือกรถให้ถูกประเภทก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยยืดอายุการใช้งานของรถเช่นกัน เมื่อลูกค้ามีความต้องการจะเช่าหรือซื้อรถยกสินค้า เราจะมีทีมงานเข้าไปสำรวจพื้นที่การปฏิบัติงานของลูกค้าก่อน เพื่อประเมินสภาพรถที่เหมาะสมและเข้าใจการใช้งานของลูกค้า บ่อยครั้งที่เราพบว่า ลูกค้าใช้รถผิดประเภท เช่น เลือกรถที่เกินความจำเป็น เสาสูงเกินไป หรือไม่เหมาะกับสภาพแวดล้อมการทำงาน ทำให้รถมีความทนทานน้อย โดยการใช้รถผิดประเภทก็อาจเกิดจากปัจจัยหลายอย่าง เช่น การที่ลูกค้าใช้รถประเภทนี้มานานจนเกิดความเคยชิน หรือบางครั้งอาจเกิดจากการสื่อสารภายในองค์กรที่ฝ่ายจัดซื้อไม่ได้เป็นผู้ปฏิบัติงาน เมื่อพบว่าลูกค้าใช้รถผิดประเภท เราก็เข้าไปพูดคุยกับลูกค้าและเลือกรถที่เหมาะสมให้ เราจะพูดกับลูกค้าอย่างตรงไปตรงมาว่า รถที่เหมาะสมควรจะเป็นประเภทไหน”
“การที่ผู้ให้บริการอย่างเราเข้าไปดูพื้นที่และช่วยประเมินการทำงานให้ พอลูกค้าได้ใช้รถที่เหมาะสมกับงานแล้ว นอกจากจะช่วยยืดอายุของรถ ยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของลูกค้าอีกด้วย โดยส่วนใหญ่รถของเราจะเป็น tailor-made หรือมีการปรับสภาพให้เหมาะกับการใช้งานของลูกค้าแต่ละราย เพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยปัจจัยที่ประเมินมีความละเอียดอย่างยิ่ง ทั้งสภาพพื้นที่ปฏิบัติการ สภาพการทำงาน ปริมาณฝุ่น ระยะการวิ่งของรถ พื้นที่ปฏิบัติงานอยู่ในคลังสินค้าและอยู่นอกคลังสินค้า ปัจจัยทั้งหมดมีผลกับเครื่องยนต์ การยกน้ำหนัก และความสามารถการวิ่งของยางที่ต่างกัน” คุณประธานวงศ์ กล่าว
คุณสุชาติ มีความเห็นในทิศทางเดียวกันในเรื่องการประเมินพื้นที่ปฏิบัติงาน โดยกล่าวว่า “การเข้าไปประเมินและตรวจสอบพื้นที่การทำงาน (site survey) เป็นหัวใจหลักของการเลือกรถที่เหมาะสมกับลูกค้า เราต้องประเมินเส้นทางการทำงานของลูกค้า ตรวจสอบเส้นทางวิ่งว่ามีอะไรกีดขวางไหม ความลาดชันในระดับเท่านี้ รถสามารถไต่ได้หรือเปล่า พื้นที่การปฏิบัติการมีวงเลี้ยวเท่าไร ช่องทางวิ่งเป็นอย่างไร พื้นที่เปิดโล่งไหม พื้นที่ปฏิบัติงานเป็นห้องควบคุม อุณหภูมิหรือห้องเย็นหรือไม่ รูปแบบการจัดวางสินค้า การจัดวางชั้นวางสินค้า น้ำหนักสินค้าและขนาดของสินค้าที่จะยก ซึ่งขนาดของสินค้าก็มีความสำคัญ เพราะบางครั้งวัตถุสองชิ้นหนักสองตันเท่ากัน แต่ความกว้าง ความยาว และความ สูงอาจไม่เท่ากัน ปัจจัยทั้งหมดนี้มีผลต่อความสมดุลของรถเมื่อเรายกสินค้า”
การจะใช้งานรถฟอร์คลิฟต์ได้ดีและรักษาคุณภาพของรถฟอร์คลิฟต์ได้นั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่เพียงรถที่เลือกใช้เท่านั้น แต่ผู้ใช้บริการก็ต้องให้ความร่วมมือและมีส่วนในการบำรุงรักษาคุณภาพของเครื่องมืออีกด้วย โดยคุณประธานวงศ์ มีความเห็นว่า “การดูแลรถเป็นการร่วมมือกันระหว่างสองฝั่ง ทั้งผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการรถฟอร์คลิฟต์ ซึ่งจะทำให้เป็นผลสำเร็จได้ เราจะมีการนั่งพูดคุยและประชุมกับลูกค้าเสมอ เพื่อปรับงานให้เข้าที่เข้าทาง ต่างฝ่ายต่างต้องช่วยกันบำรุงรักษา เราทำหน้าที่เหมือนพันธมิตรร่วมกับลูกค้ามากกว่าที่จะเป็นผู้ซื้อผู้ขาย”
What are the Factors Customers Should Look for When Choosing the ‘Right’ Provider?
เมื่อทราบวิธีการเลือกรถฟอร์คลิฟต์ที่ถูกต้องแล้ว เราจะมีวิธีการเลือกผู้ให้บริการที่เหมาะสมได้อย่างไร คุณประธานวงศ์ กล่าวว่า “สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องคำนึงถึงในการเลือกผู้ให้บริการรถฟอร์คลิฟต์ที่ดีคือ ผู้ให้บริการที่มีความเข้าใจ มีความสามารถในการเข้าถึง และตอบโจทย์ลูกค้าได้ทุกประการ เพราะท้ายที่สุดแล้วหากรถเกิดปัญหาผู้ให้บริการต้องพร้อมเข้าไป ช่วยเหลือและช่วยให้การทำงานของลูกค้าราบรื่นมากที่สุด คุณภาพของการให้บริการเป็นตัวชี้วัดว่า ผู้ให้บริการสามารถตอบรับได้รวดเร็วมากขนาดไหน”
“นอกจากการให้บริการแล้ว ลูกค้าควรคำนึงถึงเครือข่ายการให้บริการที่ครอบคลุมทั่วประเทศด้วย เพื่อให้ตอบสนองได้ทันท่วงที ซึ่งสำหรับสยามกลการอุตสาหกรรม เรามีสาขาครอบคลุมพื้นที่ให้บริการทุกภาค ประกอบด้วย สำนักงานใหญ่ที่ศรีนครินทร์ ปทุมธานี (คลองหลวง) ระยอง นครราชสีมา และอุดรธานี ศูนย์บริการเคลื่อนที่ (mobile service) ประกอบด้วยจังหวัดนครปฐมและเชียงใหม่ รวมทั้งตัวแทนจำหน่ายที่หาดใหญ่ สงขลา นครศรีธรรมราช (ทุ่งสง) และสุราษฎร์ธานี นอกจากนี้ เรายังเตรียมเปิดศูนย์บริการเพิ่มที่ เพชรเกษมและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าให้ทั่วถึงมากยิ่งขึ้น พร้อมด้วยการให้บริการด้วยทีมบริการที่ผ่านการอบรมด้วยหลักสูตรเฉพาะ UC step จากญี่ปุ่น และด้วยความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ของสยามกลการอุตสาหกรรมในการให้บริการมากกว่า 20 ปี จึงถือเป็นการการันตีการให้บริการที่ได้มาตรฐานและเป็นที่ยอมรับตั้งแต่อดีตมาสู่ปัจจุบัน”
คุณสุชาติ มีความเห็นทำนองเดียวกันโดยกล่าวว่า “การเลือกผู้ให้บริการรถฟอร์คลิฟต์ที่ดีควรประเมินจากเครือข่ายการให้บริการและประสบการณ์ของทีมงาน ในส่วนของเรา เรามีเครือข่ายการให้บริการทั้งหมด 9 สาขา รวมสำนักงานใหญ่ ซึ่งเราวางเครือข่ายการให้บริการที่ครอบคลุม 200 กิโลเมตร รวมทั้งเรายังมีระบบ FAP ซึ่งช่วยสนับสนุนในเรื่องของการบริหารคลังสินค้า ในส่วนของอะไหล่ เราสามารถตรวจสอบอะไหล่ข้ามสาขาได้ว่า มีอะไหล่ในสต๊อกสินค้าไหม มีอยู่กี่ชิ้น และแต่ละชิ้นอยู่ไหน ทำให้สามารถสั่งของและนำมามอบให้ลูกค้าได้ทันที รวมทั้งลูกค้าควรเลือกผู้ให้บริการที่มีประสบการณ์ เนื่องจากประสบการณ์เป็นตัวชี้วัดถึงความเชี่ยวชาญว่าบริษัทนั้นอยู่ในอุตสาหกรรมนี้มากี่ปีแล้ว มีบุคลากรที่มีความรู้และสามารถให้ความช่วยเหลือเราได้”
เมื่อสอบถามถึงแนวโน้มและความเป็นไปในตลาด ทั้งสองท่านมีความเห็นตรงกันว่า เพื่อเป็นการบริหารจัดการงบประมาณและช่วยให้ลูกค้าสามารถดูแลธุรกิจหลักได้ดีมากขึ้น ปัจจุบัน ลูกค้าส่วนใหญ่ได้เริ่มหันมาเลือกใช้รถเช่า แทนที่การซื้อรถอย่างเดิม โดยมีสัดส่วนรถเช่าในตลาดมากกว่าครึ่ง คุณสุชาติ กล่าวว่า “เราเห็นความเปลี่ยนแปลงในส่วนนี้มากขึ้น และเริ่มมีสัดส่วนที่มากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากการใช้รถเช่ามีข้อดีหลายอย่าง เช่น ลูกค้าไม่ต้องกังวลเรื่องการตรวจสภาพรถ การบริหารจัดการงบประมาณก็สามารถทำได้โดยง่าย เพราะค่าใช้จ่ายจะเท่ากันในทุกๆ เดือน เขาสามารถจัดสรรงบในแต่ละเดือนออกมาได้ มีความสะดวกต่อการปฏิบัติการมากกว่า ซึ่งในประเทศอื่นอย่างสิงคโปร์หรือยุโรปก็มีสัดส่วนการเช่ารถราว 90 เปอร์เซ็นต์”
คุณประธานวงศ์ กล่าวว่า “ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นคือ เมื่อก่อนลูกค้าเลือกซื้อรถเพราะอยากมีทรัพย์สินเป็นของบริษัท แต่ก็ต้องทำการบริหารจัดการและดูแลซ่อมบำรุงรถเอง ซึ่งการเช่ารถจะเป็นการลดภาระให้กับลูกค้า แต่มอบเป็นหน้าที่ของผู้ให้บริการรถเช่าที่เข้ามาดูแลในส่วนนั้นเอง บริษัทของเราก็พยายามทำความเข้าใจลูกค้า และพยายามให้บริการ value-add แก่ลูกค้าอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มแรกเราเป็นผู้บุกเบิกให้บริการรถเช่า และปัจจุบันก็ได้พัฒนาเป็นการให้บริการเช่ารถพร้อมคนขับด้วย ซึ่งช่วยให้ลูกค้าสามารถโฟกัสกับธุรกิจหลักของตนได้”
เราจะเห็นได้ว่าการรักษาคุณภาพและการดูแลรักษารถที่ดี มีความละเอียดอ่อนและมีหลักการมากกว่าที่คิด ผู้ใช้งานต้องทำความเข้าใจกับลักษณะของงาน ลักษณะพื้นที่ และความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องของผู้ปฏิบัติงานด้วย เพราะการเลือกรถที่เหมาะสมและขับขี่อย่างเหมาะสม ไม่เพียงยืดอายุการใช้งานของรถฟอร์คลิฟต์ได้มากขึ้นเท่านั้น แต่ยังเพิ่มความปลอดภัยของการปฏิบัติงานและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้อีกด้วย
Published on Logistics Manager magazine : 1st September 2018
อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Logistics Mananger เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Logistics Manager หรือคลิกที่นี่