Hapag-Lloyd เผย ผลประกอบการปี 2019 ดีขึ้นกว่า 80 เปอร์เซ็นต์

0
1712
hapag-lloyd headquarters

เมื่อเร็วๆ นี้ Hapag-Lloyd ประกาศผลการดำเนินงานประจำปี 2019 โดยในปีงบประมาณ 2019 สายการเดินเรือฯ มีผลกำไรก่อนหักดอกเบี้ยและภาษี (EBIT) มากถึง 811 ล้านยูโร (ประมาณ 886.57 ล้านเหรียญสหรัฐ) ซึ่งถือว่ามีผลกำไรที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับปีงบประมาณ 2018 ซึ่งมีผลกำไรอยู่ที่ 444 ล้านยูโร (ประมาณ 485.37 ล้านเหรียญสหรัฐ) ขณะที่กำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าใช้จ่ายตัดจ่าย (EBITDA) เพิ่มสูงขึ้นเป็น 1,986 ล้านยูโร (ประมาณ 2,171.09 ล้านเหรียญสหรัฐ) เมื่อเทียบกับปีงบประมาณ 2018 ซึ่งอยู่ที่ 1,139 ล้านยูโร (ประมาณ 1,245.15 ล้านเหรียญสหรัฐ)

โดยปัจจัยขับเคลื่อนหลักที่ส่งผลบวกต่อการเติบโตของธุรกิจคือ อัตราค่าระวางที่ดีขึ้น รวมถึงการจัดการด้านต้นทุนและรายได้ที่มีความเข้มงวด นอกจากนี้ ผลกำไรจากการดำเนินการในปี 2019 ยังเป็นผลจากการปรับใช้มาตรฐานบัญชี IFRS 16 ซึ่งคิดเป็นมูลค่าประมาณ 31 ล้านยูโร (ประมาณ 33.89 ล้านเหรียญสหรัฐ) สำหรับผลกำไรก่อนหักดอกเบี้ยและภาษี (EBIT) และมูลค่าราว 467 ล้านยูโร (ประมาณ 510.69 ล้านเหรียญสหรัฐ) สำหรับผลกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าใช้จ่ายตัดจ่าย (EBITDA) โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสที่สี่ของปี 2019 ที่ผลกำไรก่อนหักดอกเบี้ยและภาษี (EBIT) และผลกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าใช้จ่ายตัดจ่าย (EBITDA) ต่างมีอัตราการเติบโตสูงขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

ทั้งนี้ รายได้ของบริษัทฯ ประจำปีงบประมาณ 2019 มีการเติบโตขึ้นราว 9 เปอร์เซ็นต์ ที่ 12.6 พันล้านยูโร (ประมาณ 13.78 พันล้านเหรียญสหรัฐ) เมื่อเทียบกับปี 2018 ซึ่งมีรายได้อยู่ที่ 11.6 พันล้านยูโร (ประมาณ 12.68 พันล้านเหรียญสหรัฐ) อันเป็นผลมาจากอัตราค่าระวางสินค้าที่ดีขึ้น โดยอยู่ที่ประมาณ 1,072 เหรียญสหรัฐต่อทีอียู ซึ่งถือได้ว่ามีอัตราสูงขึ้นราว 2.6 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งอยู่ที่ 1,044 เหรียญสหรัฐต่อทีอียู อีกทั้ง ผลประกอบการที่สูงขึ้นยังมีผลมาจากการที่สายการเดินเรือฯ หันมาให้ความสำคัญกับเส้นทางการค้าที่สร้างผลกำไรได้ดีกว่า และการจัดการรายได้ที่คล่องตัวมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีปัจจัยขับเคลื่อนในส่วนของปริมาณการขนส่งสินค้าที่เพิ่มมากขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า เป็น 12 ล้านทีอียู เมื่อเทียบกับปี 2018 ที่มีปริมาณการขนส่งสินค้า 11.9 ล้านทีอียู รวมไปถึงการแข็งตัวของอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินเหรียญสหรัฐกับเงินสกุลยูโร ซึ่งได้ส่งผลทางบวกต่อรายได้รวมตลอดปี 2019 ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายในการจัดการยกขนและการขนส่งตู้สินค้าทางบกที่ต่ำลง รวมถึงราคาเฉลี่ยของน้ำมันเชื้อเพลิงที่ลดต่ำลงเล็กน้อย จากตันละ 421 เหรียญสหรัฐ เมื่อปี 2018 เป็นตันละ 416 เหรียญสหรัฐ ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ได้รับผลกระทบเชิงบวกจากการแข็งตัวของเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ และส่งผลเชิงบวกต่อค่าใช้จ่ายในการขนส่งโดยรวม แม้จะมีปริมาณค่าใช้จ่ายรวมที่สูงขึ้นจาก 9.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2018 เป็น 9.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2019 ที่ผ่านมา

อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Logistics Mananger เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Logistics Manager หรือคลิกที่นี่

บทความก่อนหน้านี้ท่าเรือ Seattle จัดอบรมต่อต้านการค้ามนุษย์
บทความถัดไปท่าเรือ Los Angeles จับมือท่าเรือ Long Beach เสริมศักยภาพการแข่งขัน
Phubet Boonrasri
Chen is an experienced writer and an avid explorer of nature. He thrives on travelling, hiking, and backpacking to new places. His wanderlust has allowed him to experience and learn from new cultures, allowing him to better accommodate for whatever comes his ways.