Gold Star Line เปิดตัวบริการ TYX โฉมใหม่ ยกระดับการค้าไทย-เมียนมาร์

0
4473

สายการเดินเรือ Gold Star Line (GSL) ผู้เล่นสำคัญในตลาดการค้าเส้นทาง Intra-Asia และแอฟริกา ชูธงรบเข้าสู่ตลาดการค้าประเทศไทย-ย่างกุ้ง ผ่านบริการ TYX Thailand – Myanmar โดยบริการดังกล่าวจะเข้าเทียบท่าในประเทศไทยสองครั้ง ที่ท่าเรือกรุงเทพ (BKP) และท่าเรือแหลมฉบัง (LCH) ก่อนที่จะเข้าเทียบท่าใน Singapore และเดินทางต่อไปยัง Port Kelang ในมาเลเซีย และเทียบท่าสองครั้งที่นครย่างกุ้งประเทศเมียนมาร์ ณ ท่าเรือ Myanmar International Terminal Thilawa (MITT) และท่าเรือ Myanmar Industrial Port (MIP)

โดยบริการ TYX ที่ได้รับการปรับปรุงใหม่นี้ ถือกำเนิดขึ้นเพื่อรองรับความต้องการบริการในภูมิภาค สำหรับเส้นทางที่เชื่อมต่อประเทศไทยเข้ากับท่าเรือในเครือข่าย Intra-Asia พร้อมกันนั้น บริการ TYX ยังเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางบริการใหม่ที่ GSL เพิ่งเปิดตัวในปีนี้ เพื่อเพิ่มพูนประสิทธิภาพบริการของสายการเดินเรือฯ ในเส้นทางการค้า Intra-Asia และขยายบริการไปยังภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกา

“เราเล็งเห็นโอกาสมากมายในตลาด Intra-Asia บริการ TYX ที่ได้รับการเสริมประสิทธิภาพนี้ เปิดตัวขึ้นเพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มสูงขึ้น สำหรับบริการที่เชื่อมต่อประเทศไทยสู่ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” Mr. David Ames ผู้บริหารของ GSL Thailand กล่าว  

“Gold Star Line ส่งมอบเสถียรภายให้กับอุตสาหกรรมที่มีวิวัฒนาการอย่างไม่หยุดยั้ง เราเข้าใจความต้องการของลูกค้า อีกทั้ง เรายังพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาในภาวะเศรษฐกิจที่ผกผันเช่นนี้ ทีมงานผู้เชี่ยวชาญของเรา พร้อมที่จะรองรับความต้องการของลูกค้า ด้วยการมอบบริการที่ดีที่สุด” Mr. Ames กล่าวเสริม

บริการ TYX เข้าเทียบท่าในย่างกุ้งสองครั้ง ณ ท่าเรือ MITT และ MIP โดยท่าเรือ MIP นั้นเป็นท่าเรือติดเขตเมือง ซึ่งสามารถรองรับความต้องการของผู้ส่งออกที่ต้องการส่งสินค้าไปยังใจกลางเขตธุรกิจของย่างกุ้ง ส่วน MITT เป็นท่าเรือใหม่ที่ตั้งอยู่บริเวณชานเมือง ซึ่งมีประสิทธิภาพในการรองรับเรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่ได้ 

ปัจจุบัน GSL ปฏิบัติการในสามเส้นทางการค้ารอบโลก นั่นคือ แอฟริกาใต้ อนุทวีปอินเดีย และ Intra-Asia ซึ่งมีประเทศไทย เป็นหนึ่งในศูนย์กลางการขนถ่ายสินค้า และตลาดการค้าที่สำคัญที่สุดสำหรับสายการเดินเรือฯ เนื่องจากบริการทั้งแปดของสายการเดินเรือฯ ที่เดินทางออกจากประเทศไทยนั้น ช่วยผลักดันให้ GSL มีสัดส่วนปริมาณการค้าในเครือข่าย Intra-Asia ที่สูงมาก ทั้งนี้ ผู้ส่งสินค้าในประเทศไทยยังสามารถเข้าถึงเส้นทางการค้าแอฟริกาใต้และอนุทวีปอินเดีย ผ่านบริการแบบบูรณาการของ GSL ที่สามารถจัดส่งสินค้าไปยังภูมิภาคอื่นๆ ของโลกได้อีกด้วย

เพื่อเสริมประสิทธิภาพของบริการต่างๆ ในเส้นทางการค้าของสายการเดินเรือฯ ในปีนี้ GSL ได้ลงทุนขยายกองตู้สินค้าควบคุมอุณหภูมิชุดใหม่ ซึ่งพร้อมอำนวยความสะดวกภายใต้บริการ TYX ที่ได้รับการปรับปรุงใหม่นี้ด้วย  

ทั้งนี้ GSL ปฏิบัติการขนส่งตู้สินค้าควบคุมอุณหภูมิประมาณ 20,000 ตู้ต่อปีโดยเฉลี่ย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการปฏิบัติการขนส่งในเส้นทาง Intra-Asia โดยมีผลไม้เป็นสินค้าที่โดดเด่นที่สุด เนื่องจากประเทศจีนกำลังเพิ่มปริมาณการนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ขณะเดียวกัน สินค้าส่งออกจากประเทศไทยไปยังเมียนมาร์ ประกอบด้วยน้ำตาลเป็นสินค้าหลัก ตามด้วยอาหารและวัตถุดิบต่างๆ สินค้าที่โดดเด่นรองลงมาคือ สิ่งทอ รองเท้า และสินค้าประเภทแก้ว พร้อมกันนั้น GSL ยังคาดการณ์ว่า ปริมาณสินค้าส่งออกจากเมียนมาร์จะเพิ่มขึ้น ตามการเติบโตของโครงสร้างพื้นฐานของประเทศที่พัฒนาอย่างต่อเนื่อง 

อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Logistics Mananger เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Logistics Manager หรือคลิกที่นี่

บทความก่อนหน้านี้เครนหน้าท่า Liebherr เสริมศักยภาพท่าเรือ Rostock รองรับเส้นทางสายไหมยุคใหม่
บทความถัดไปONE เปิดบริการขนส่งตรงเชื่อม จีน-อินโดนีเซีย