Gateway Terminals India (GTI) หรือที่รู้จักในนาม APM Terminals Mumbai ลงนามบันทึกความเข้าใจในโครงการนำร่องด้านเทคโนโลยีร่วมกับการท่าเรือ Jawaharlal Nehru Port Authority (JNPA) เพื่อพัฒนาการจัดหาพลังงานชายฝั่งในภูมิภาค
โครงการนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนจากเรือในระหว่างจอดเทียบท่าเรือ ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักในการลดการปล่อยคาร์บอนสำหรับ APM Terminals ทั่วโลก โดยในช่วงแรกศูนย์ผลิตพลังงานชายฝั่งจะรับพลังงานจากโครงข่ายไฟฟ้า เมื่อเริ่มต้นปฏิบัติการ ท่าเทียบเรืออาจเลือกซื้อพลังงานสีเขียวผ่านการเข้าถึงแบบเปิดเพื่อใช้ในการจัดหาพลังงานชายฝั่ง (SPS) โดยจะมีการจัดหาพลังงานให้เพียงพอสำหรับเรือสองลำอย่างต่อเนื่อง ช่วยลดการใช้เชื้อเพลิงดีเซลในท่าเรือและลดการรบกวนของมลพิษทางเสียง
Mr. Sahar Rashidbeigi หัวหน้าระดับโลกฝ่าย Decarbonisation บริษัท APM Terminals กล่าวว่า “ข้อตกลงในครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า เราสามารถร่วมมือกับองค์กรท่าเรือ รัฐบาล และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องที่มีความคิดเห็นในทิศทางเดียวกันได้อย่างไร เพื่อนำทางและก้าวไปข้างหน้าเพื่อปรับใช้เทคโนโลยีในการรับมือการปล่อยคาร์บอนในอุตสาหกรรมฯ”
“การปล่อยคาร์บอนจากเรือที่กำลังเทียบท่ามีผลต่อคุณภาพอากาศทั้งในท่าเรือและบริเวณโดยรอบท่าเรืออย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งล้วนส่งผลกระทบต่อชุมชนและสุขภาพของชาวเรือ ความมุ่งมั่นในการลดระยะเวลาการเทียบท่าให้แก่ลูกค้าผ่านแนวคิดความเป็นเลิศด้านการปฏิบัติการทำให้เราสามารถช่วยท่าเทียบเรือและท่าเรือทั่วโลกประหยัดค่าใช้จ่ายได้ ด้วยการใช้พลังงานชายฝั่ง เรามีโอกาสประหยัดเชื้อเพลิงเพิ่มเติมและลดการปล่อยคาร์บอนที่เกี่ยวข้องขณะเทียบท่าได้ราว 40-60 เปอร์เซ็นต์”
อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Logistics Mananger เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Logistics Manager หรือคลิกที่นี่