อินโดนีเซียเปิดตัวท่าเรือบก GL Terminal ใน Jakarta

0
1289
GL Terminal

เพื่อตอบสนองต่อความต้องการใช้งานท่าเรือบกหรือสถานีจัดการและบรรจุตู้สินค้า (ICD) มาตรฐานระดับโลกที่เพิ่มสูงขึ้นในอินโดนีเซีย ผู้ประกอบการสองรายในอินโดนีเซียได้ร่วมมือกันเปิดตัว บริษัท PT. Good Logistics (GL) Terminal หรือท่าเรือบก GL Terminal ในช่วงปลายปี 2020 โดยศูนย์ปฏิบัติการดังกล่าวมีฐานปฏิบัติการใน Jakarta ห่างจากท่าเรือ Jakarta เพียง 10 กิโลเมตร และสามารถรองรับปริมาณตู้สินค้าผ่านท่าได้ถึง 180,000 ทีอียูต่อปี โดยที่ท่าเรือบกแห่งใหม่นี้ นอกจากจะปฏิบัติการด้วยอุปกรณ์ยกขนสินค้าที่ทันสมัยแล้ว GL Terminal ยังได้เริ่มปรับใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการ และยกระดับประสิทธิภาพการปฏิบัติการให้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งยังช่วยเพิ่มความโปร่งใสในกระบวนการทำงานทุกขั้นตอนให้แก่ผู้ใช้บริการด้วย

โดยทีมผู้ริเริ่มโครงการประกอบด้วย Mr. Pak Soehono Koenarto และ Mr. Paul Good ซึ่งมีประสบการณ์ในการเป็นเจ้าของและผู้บริหารในแวดวงธุรกิจโลจิสติกส์ การส่งออก การผลิต และธุรกิจกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG) หลังจากดำเนินธุรกิจในอินโดนีเซียมาเป็นเวลาหลายปี พวกเขาก็ตระหนักว่าอินโดนีเซียมีความต้องการท่าเรือบกที่มีระบบการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ และสามารถก้าวข้ามความท้าทายที่มีอยู่ในตลาดท้องถิ่นได้

Mr. Koenarto กล่าวว่า “เราเชื่อว่าอินโดนีเซียมีความต้องการศูนย์ปฏิบัติการระดับโลก เราจึงได้เปิดตัว GL Terminal โดยเป้าหมายของเราคือการเป็นผู้ให้บริการชั้นนำในตลาดนี้ และมอบผลิตภัณฑ์ซึ่งประกอบไปด้วย คุณภาพการให้บริการ การปฏิบัติการที่เป็นไปตามกฎระเบียบ มีความปลอดภัยต่อพนักงาน ความปลอดภัยต่อสินค้า และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว”

ขณะเดียวกัน Mr. Good ได้กล่าวเสริมว่า “GL Terminal ได้รับการออกแบบและสร้างขึ้นโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลในการเพิ่มผลิตภาพ คุณภาพ และระดับการให้บริการ รวมทั้งเพื่อมอบบริการที่ได้มาตรฐานในระดับเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ”

ทั้งนี้ GL Terminal มีที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ที่ใกล้กับถนนวงแหวนรอบนอกของ Jakarta และห่างท่าเรือ Tg Priok Jakarta เพียงไม่ถึง 10 กิโลเมตร สามารถเข้าถึงทางหลวงสายหลักได้โดยตรง ทำให้สามารถตอบรับความต้องการของลูกค้าได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ซึ่งรวมไปถึงบริการนำเข้าและส่งออก และความต้องการในการกระจายสินค้าอีกด้วย

นอกจากนี้ GL Terminal ยังมีพื้นที่ลานคอนกรีตเปล่าขนาด 30,000 ตร.ม. ซึ่งสามารถขยายพื้นที่ปฏิบัติการรวมถึงอุปกรณ์ขนถ่ายสินค้าในการจัดวางตู้สินค้าหนักและตู้สินค้าเปล่าได้ ทีมบุคลากรยังได้รับการฝึกฝนในโครงการจากทั้งภายในและภายนอกองค์กร รวมทั้งยังปฏิบัติตามกฎระเบียบของรัฐบาลในด้านแรงงาน และได้รับใบรับรองระดับนานาชาติจากสถาบัน Institute of International Container Lessors (IICL) โดยท่าเรือบกแห่งนี้สามารถรองรับตู้สินค้าราว 2,000 ทีอียูต่อวัน มีทางเข้า-ออกที่แยกระหว่างสินค้านำเข้าและสินค้าส่งออก ซึ่งช่วยให้เข้า-ออกได้สะดวกยิ่งขึ้น รวมทั้งยังมีบริการเสริมภายในสถานที่ที่หลากหลาย โดยนอกจากบริการจัดเก็บสินค้าแล้ว ยังมีบริการสำรวจ ซ่อมบำรุง ทำความสะอาด โดยสามารถติดต่อและปฏิบัติการตลอด 24 ชั่วโมง และมีระบบรักษาความปลอดภัยอย่างเต็มรูปแบบ

อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Logistics Mananger เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Logistics Manager หรือคลิกที่นี่

บทความก่อนหน้านี้MOL เร่งผลักดันระบบดิจิทัล เดินหน้าระบบจัดการกองเรือขนส่งยานยนต์
บทความถัดไปRhenus Singapore ขนส่งแผงสับเปลี่ยนไฟฟ้าความแม่นยำสูงจากสิงคโปร์สู่ออสเตรเลีย