ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยยอดการส่งออกประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2020 ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง ประเทศไทยเองก็จะได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การบริโภคและการลงทุน รวมถึงการส่งออก
โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 23 มีนาคมที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ได้ประกาศตัวเลขการส่งออกเดือนกุมภาพันธ์ 2020 มีการหดตัว 4.5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งดีกว่าที่หลายฝ่ายคาด โดยนอกจากจะได้รับอานิสงส์จากการส่งออกทองคำที่ขยายตัวถึง 180 เปอร์เซ็นต์แล้ว ตลาดส่งออกสำคัญของไทยทั้งจีน สหภาพยุโรปสหรัฐอเมริกา ตะวันออกกลาง เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ซึ่งมีสัดส่วนรวมกันคิดเกือบ 50 เปอร์เซ็นต์ ของมูลค่าส่งออกรวมของไทย มีการหดตัวลงน้อยกว่าที่คาด โดยมีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้
ตลาดจีน หดตัว 2 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากการส่งออกสินค้าบางส่วนได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แพร่ระบาด โดยเฉพาะการส่งออกผลไม้สดและผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังที่หดตัวสูงจากการปิดด่าน/ปิดท่าเรือ ขณะเดียวกันสินค้าที่เกี่ยวข้องกับราคาน้ำมันก็หดตัวต่อเนื่องจากเศรษฐกิจจีนที่ชะลอลง อย่างไรก็ตาม การหดตัวดังกล่าวเป็นการหดตัวที่น้อยกว่าที่หลายฝ่ายคาด ซึ่งเกรงกันว่าการส่งออกไปจีนอาจหดตัวสูงจากการประกาศปิดเมือง และอาจกระทบกำลังซื้อและซัพพลายเชน เนื่องจากได้ปัจจัยสนับสนุนจากสงครามการค้าที่ผ่อนคลายลง ทำให้สินค้าที่เคยถูกกดดันจากปัจจัยดังกล่าวกลับมาขยายตัวดี อาทิ ผลิตภัณฑ์ยาง รถยนต์และเครื่องยนต์ คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เป็นต้น
ตลาดสหภาพยุโรป ขยายตัว 1.2 เปอร์เซ็นต์ โดยตลาดอิตาลีและเยอรมนีที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมากยังขยายตัวได้เล็กน้อย จากเครื่องปรับอากาศและเครื่องยนต์สันดาป อย่างไรก็ตาม มีการตั้งข้อสังเกตว่า การที่ตัวเลขการส่งออกของไทยไปสหภาพยุโรปโดยรวมยังคงมีการขยายตัว อาจเป็นเพราะในเดือนกุมภาพันธ์ยังไม่เกิด Super Spread ในยุโรป ทำให้หากอาจต้องรอประเมินผลกระทบจากตัวเลขการส่งออกของเดือนมีนาคมอีกครั้ง
ตลาดสหรัฐอเมริกา หดตัวถึง 37 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากฐานตัวเลขการส่งออกที่สูงในปีที่ผ่านมา จากการส่งออกอาวุธกลับหลังจากมีการฝึก Cobra Gold อย่างไรก็ตาม เมื่อหักลบตัวเลขดังกล่าวออก จะพบว่าตลาดสหรัฐอเมริกากลับมาขยายตัวถึง 18.3 เปอร์เซ็นต์ จากปัจจัยสนับสนุนเดิมที่สินค้าหลายรายการของไทยเข้าไปแทนที่สินค้าจีนได้มากขึ้นจากสงครามการค้า อาทิ คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง อุปกรณ์กึ่งตัวนำ เครื่องประดับ เหล็ก เป็นต้น
ตลาดเกาหลีใต้ หดตัวเพียง 1.5 เปอร์เซ็นต์ สวนทางกับยอดผู้ติดเชื้อของเกาหลีใต้ในเดือนกุมภาพันธ์ที่เร่งตัวขึ้นเร็วที่สุดในโลก แต่เนื่องเกาหลีใต้ยังสามารถควบคุมสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว โดยสินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องปรับอากาศ กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ เป็นต้น
ตลาดญี่ปุ่น หดตัวถึง 11.1 เปอร์เซ็นต์ โดยสินค้าส่งออกไทยไปญี่ปุ่นในเดือนกุมภาพันธ์ยังคงเป็นสินค้าอุตสาหกรรมเป็นหลัก อาทิ รถยนต์ เครื่องจักร คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ซึ่งได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจญี่ปุ่นโดยรวมที่ชะลอลงมาตั้งแต่ช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาด อย่างไรก็ตาม สินค้าอาหารซึ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิตยังสามารถขยายตัวได้ โดยเฉพาะไก่แปรรูป ซึ่งเป็นสินค้าเกษตรอันดับหนึ่งของไทยที่ส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น
ตลาดอิหร่าน มีการขยายตัวถึง 25.9 เปอร์เซ็นต์ จากการส่งออกยางพารา รถยนต์ ผลไม้กระป๋องที่ยังสามารถขยายตัวได้สูง เช่นเดียวกับตลาดตะวันออกกลางโดยรวม ยังมีการขยายตัวถึง 16.4 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตาม ตัวเลขการส่งออกไปภูมิภาคดังกล่าวอาจยังไม่ได้สะท้อนผลกระทบจากสถานการณ์ปัจจุบัน เนื่องจากตัวเลขผู้ติดเชื้อในตะวันออกกลางเริ่มเร่งตัวขึ้นในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ทำให้อาจต้องพิจารณาตัวเลขการส่งออกเดือนมีนาคมอีกครั้ง โดยเฉพาะในตลาดส่งออกหลักในภูมิภาคทั้งซาอุดีอาระเบีย กาตาร์ อิสราเอล เป็นต้น ที่มียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
แม้ว่าการส่งออกของไทยโดยรวมในช่วง 2 เดือนแรกปี 2020 จะหดตัวเพียง 0.8 เปอร์เซ็นต์ แต่การส่งออกของไทยในช่วงที่เหลือของปี 2020 ยังต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยงอยู่มาก โดยเฉพาะสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งยังไม่ทราบว่าจะยุติลงเมื่อใด และยังไม่สามารถประเมินผลกระทบได้ชัดเจน แต่ตัวเลขส่งออกในช่วงที่ผ่านมาก็สะท้อนได้บางส่วนว่า การส่งออกของไทย มีความยืดหยุ่นมากขึ้นกว่าอดีต จากการมีสินค้าที่หลากหลายและการกระจายตลาดส่งออกที่ดีขึ้น
อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Logistics Mananger เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Logistics Manager หรือคลิกที่นี่