EXIM BANK เผยราคาน้ำมันตกต่ำอาจซ้ำเติมการส่งออก

0
2578

ฝ่ายวิจัยธุรกิจ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เผยว่า จากการประชุมระหว่างกลุ่มประเทศ OPEC และประเทศนอกกลุ่ม OPEC เพื่อหารือในการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันเพิ่มเติมเพื่อพยุงราคาน้ำมันที่ตกต่ำจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 เมื่อวันที่ 6 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลทำให้ซาอุดีอาระเบียประกาศทำสงครามราคาน้ำมัน โดยจะปรับลดราคาขายน้ำมันดิบให้กับลูกค้าทั่วโลกลง 6-8 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล รวมทั้งจะค่อยๆ เพิ่มกำลังการผลิตของตัวเองจากเดิม 9.7 ล้านบาร์เรลต่อวันขึ้นเป็น 12 ล้านบาร์เรลต่อวัน

ราคาน้ำมันที่ปรับลดลงอย่างรวดเร็วจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยทั้งในด้านบวกและด้านลบ โดยในด้านบวก จะทำให้ไทยซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมันสุทธิ ประหยัดเงินในการนำเข้าน้ำมันดิบได้บางส่วน ซึ่งในแต่ละปีไทยนำเข้าน้ำมันดิบเป็นมูลค่าเกือบ 7 แสนล้านบาท นอกจากนี้ ในส่วนของผู้ประกอบการก็จะมีต้นทุนการผลิตลดลง โดยเฉพาะต้นทุนค่าขนส่ง ขณะที่ผู้บริโภคก็จะมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น จากรายจ่ายด้านพลังงานที่ลดลง ซึ่งจะหนุนให้อุปสงค์ในประเทศกระเตื้องขึ้น

สำหรับในด้านลบนั้น มีโอกาสที่ราคาน้ำมันที่ลดลงจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าและบริการของไทย ซึ่งแบ่งออกได้เป็น

คุณพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย

การส่งออกของไทยไปประเทศที่พึ่งพารายได้จากการส่งออกน้ำมันในสัดส่วนสูง โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ OPEC และรัสเซีย ซึ่งไทยส่งออกคิดเป็นสัดส่วนรวมกันประมาณ 3 เปอร์เซ็นต์ ของมูลค่าส่งออกรวม ทั้งนี้ สินค้าหลักที่ไทยส่งออกให้กับกลุ่มประเทศ OPEC และรัสเซีย ได้แก่ รถยนต์ ผลิตภัณฑ์ยาง ข้าว เครื่องปรับอากาศ ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้

การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมัน อาทิ น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยาง และเม็ดพลาสติกมีแนวโน้มชะลอลง กลุ่มสินค้าดังกล่าวมีสัดส่วนรวมกันราว 15 เปอร์เซ็นต์  ของมูลค่าการส่งออกรวม โดยนอกจากราคาน้ำมันที่ลดลงจะส่งผลกระทบต่ออัตราผลกำไรของการส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ ในด้านปริมาณก็ยังคงถูกกดดันจากอุปสงค์ที่ลดลงจากผลกระทบของ COVID-19 โดยเฉพาะจีน ซึ่งเป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่งของไทยอีกด้วย

การส่งออกสินค้าเกษตรอาจได้รับผลกระทบทางอ้อม เนื่องจากราคาสินค้าดังกล่าวมักเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับราคาน้ำมันอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะยางพารา โดยปัญหาดังกล่าวจะเข้ามาซ้ำเติมภาวะอุปทานยางพาราล้นตลาดในปัจจุบันให้รุนแรงมากขึ้นไปอีก

การส่งออกบริการ (การท่องเที่ยว) มีแนวโน้มหดตัว จากจำนวนนักท่องเที่ยวชาวตะวันออกกลางและรัสเซียซึ่งคิดเป็นสัดส่วนราว 10 เปอร์เซ็นต์  ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดในไทย  โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีรายจ่ายเฉลี่ยต่อหัวสูงและเป็นกลุ่มลูกค้าอันดับหนึ่งในประเภทบริการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ (Medical Tourism) ซึ่งอาจส่งผลซ้ำเติมภาคการท่องเที่ยวที่ปัจจุบันกำลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจาก COVID-19 ที่ส่งผลให้นักท่องเที่ยวจีนซึ่งมีสัดส่วนกว่า 1 ใน 3 ของนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง

จะเห็นได้ว่านอกจากสถานการณ์ COVID-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการส่งออกของไทยโดยรวมแล้ว ความผันผวนของอุตสาหกรรมน้ำมันก็เป็นอีกปัจจัยเสี่ยงที่ผู้ส่งออกไทยต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด โดยหากรัสเซียเปลี่ยนใจกลับสู่โต๊ะเจรจากับซาอุดีอาระเบียอีกครั้ง ก็อาจทำให้ราคาน้ำมันกลับสู่ภาวะปกติได้ ซึ่ง EXIM BANK แนะนำให้ผู้ส่งออกติดตามทิศทางราคาน้ำมันอย่างใกล้ชิด

อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Logistics Mananger เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Logistics Manager หรือคลิกที่นี่

บทความก่อนหน้านี้BMTP เปิดท่าเรือต้อนรับ รมว. ยุติธรรม ในพิธีส่งมอบเรือลาดตะเวนแก่เมียนมาและลาว
บทความถัดไปผู้เชี่ยวชาญจากสหราชอาณาจักรร่วมมือกับเกษตรกรอินเดียเพื่อลดความสูญเสียในกระบวนการขนส่งอาหาร
Thanathas Akkhachotkawanich
Bangkok grew, Australian aged, Silicon Valley matured, this aspiring writer adds flavor to our team with his assuring smile and quill-tip talents.