เมื่ออุปสงค์และอุปทาน (demand and supply) ของธุรกิจในปัจจุบันเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงและรวดเร็ว ธุรกิจจำเป็นต้องมองหาแนวทางที่สามารถรับมือและบริหารจัดการสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการในตลาดได้อย่างเร่งด่วนที่สุด ไม่ใช่เพียงเพื่อช่วงชิงความได้เปรียบทางการค้าเท่านั้น หากแต่ความสามารถในการปรับตัวและปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ได้อย่างรวดเร็วยังหมายถึงความอยู่รอดและการเติบโตของธุรกิจในระยะยาวอีกด้วย นี่จึงเป็นอีกหนึ่งประตูสำคัญที่เปิดทางให้ Elastic Logistics แนวทางการบริหารจัดการโลจิสติกส์ที่มุ่งเน้นความยืดหยุ่นเป็นหลักเข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมฯ และได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ หลายองค์กรต่างเห็นพ้องว่าแนวคิดการบริหารจัดการแบบ Lean Logistics ที่เน้นการลดความสูญเปล่า ทั้งด้านต้นทุน เวลา และขั้นตอนการดำเนินการ สามารถตอบโจทย์ธุรกิจได้เป็นอย่างดี ทั้งในแง่ของการเพิ่มมูลค่าให้กับองค์กร เพิ่มความพึงพอใจแก่ลูกค้า และปรับปรุงกระบวนการด้านโลจิสติกส์ให้มีความคล่องตัวขึ้น แต่ด้วยภาวะความผันผวนของอุปสงค์และอุปทานในตลาดปัจจุบันที่ยากต่อการคาดการณ์ล่วงหน้า บวกกับทิศทางธุรกิจในปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ทำให้ผู้ดำเนินธุรกิจต้องมองหาแนวทางในการรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ได้อย่างยืดหยุ่น คุ้มค่า มีประสิทธิภาพ และสอดรับกับสถานการณ์ตลาดมากยิ่งขึ้น นั่นจึงทำให้แนวคิดการบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์แบบ Elastic logistics เข้ามามีบทบาทและได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ
What is Elastic Logistics?
Elastic logistics เป็นแนวคิดด้านการบริหารจัดการโลจิสติกส์ที่มุ่งเน้นความยืดหยุ่น ซึ่งจะช่วยให้การจัดการซัพพลายเชนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นในภาวะที่ความต้องการซื้อ-ขายสินค้าและบริการมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดย Elastic logistics ให้ความสำคัญกับการปรับปรุงขั้นตอนและกระบวนการโลจิสติกส์ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ไม่ว่าจะเป็นการปรับเพิ่มหรือลดสเกลการปฏิบัติการ เพื่อรับมือกับความท้าทายต่างๆ อาทิ การจัดการกองรถบรรทุก/เรือที่ไม่ได้ใช้งาน ภาวะขาดแคลนพื้นที่จัดเก็บสินค้า และการมีสินค้าคงคลังมากเกินไป รวมไปถึงการเลือกใช้ผู้ให้บริการอื่นๆ เพื่อเติมเต็มความต้องการด้านการปฏิบัติการในรูปแบบต่างๆ
โดย Elastic logistics มีรูปแบบการจัดการกระบวนการโลจิสติกส์ที่ยืดหยุ่น คล่องตัว และใช้ความต้องการในตลาดเป็นฐานในการกำหนดระยะเวลาดำเนินการ ต้นทุน ตลอดจนแนวทางการปฏิบัติการ ซึ่งธุรกิจสามารถนำข้อมูลที่ได้จากการจัดเก็บและรวบรวมผ่านระบบบริหารการขนส่ง (TMS) ระบบการจัดการกองรถ/เรือ ข้อมูลและสถานะการบรรทุกสินค้า ระบบการจัดการซัพพลายเชน และ Big data เข้ามาใช้ในการประเมินและวางแผน จึงกล่าวได้ว่าส่วนสำคัญของการจัดการโลจิสติกส์โดยมุ่งเน้นความยืดหยุ่นนี้จำเป็นจะต้องพึ่งพาข้อมูลต่างๆ ในแต่ละส่วนของซัพพลายเชนเป็นอย่างมาก
Data-Driven Solutions
การรวบรวมข้อมูลและการประมวลผลถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ธุรกิจสามารถคาดการณ์ความต้องการในตลาดได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น ซึ่งในที่สุดจะช่วยลดการสูญเสีย เพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพในการให้บริการ โดยข้อมูลเหล่านี้ล้วนช่วยให้ธุรกิจสามารถจำแนกพฤติกรรมของลูกค้า กิจกรรมและความต้องการในแต่ละช่วงเวลา รวมถึงแนวโน้มอื่นๆ ในอุตสาหกรรมฯ ได้อย่างแม่นยำ
นอกจากนี้ ข้อมูลที่ครอบคลุมยังจะช่วยให้ธุรกิจสามารถมองเห็นทิศทาง พฤติกรรม และแบบแผนอื่นๆ ที่มนุษย์อาจไม่ทันสังเกต การมีข้อมูลสังเคราะห์จำนวนมากในมือจะช่วยยกระดับความสามารถในการควบคุมและการมองเห็น ซึ่งจะทำให้บริษัทสามารถตัดสินใจขยายหรือปรับลดสเกลของธุรกิจในแต่ละส่วนได้ดียิ่งขึ้น นั่นหมายความว่ายิ่งเรามีข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วนมากเท่าไหร่ก็จะช่วยให้การคาดการณ์แม่นยำมากขึ้นเท่านั้น
Third-Party Partnering
เนื่องจาก Elastic logistics เป็นแนวทางการบริหารจัดการที่อาศัยข้อมูลช่วยในการวางแผน ดังนั้น การมีเทคโนโลยีและแพล็ตฟอร์มที่ช่วยสนับสนุนด้านข้อมูลจึงกลายเป็นเรื่องที่เชื่อมโยงกันอย่างขาดไม่ได้ ปัจจุบันหลายหน่วยงานได้มีการใช้งาน Big data ระบบติดตามและตรวจสอบสถานะสินค้า ระบบตรวจสอบปริมาณการบรรทุกสินค้าแบบเรียลไทม์ ระบบบริหารการขนส่ง (TMS) รวมถึงแพล็ตฟอร์มดิจิทัลอื่นๆ เข้ามาช่วยในการจัดการด้านโลจิสติกส์ให้สามารถตอบโจทย์ด้านประสิทธิภาพและความยืดหยุ่นยิ่งขึ้น
บางธุรกิจอาจเลือกใช้แพล็ตฟอร์มตลาดออนไลน์สำหรับการค้นหาและเลือกใช้บริการคลังสินค้า เมื่อมองหาคลังสินค้าชั่วคราว หรือ on-demand storage ขณะที่ผู้ให้บริการคลังสินค้าก็สามารถเข้าถึงลูกค้าเป้าหมายและใช้ประโยชน์จากพื้นที่คลังสินค้าที่ว่างอยู่ ซึ่งถือเป็นการใช้ประโยชน์จากความยืดหยุ่น ทั้งในด้านการบริหารจัดการสินค้าและการเพิ่มประสิทธิภาพด้านต้นทุนค่าใช้จ่าย
ในทางเดียวกัน ธุรกิจบริการขนส่งสินค้าด้วยรถบรรทุกก็สามารถเข้ามาเติมเต็มด้านความยืดหยุ่นและเสริมประสิทธิภาพการให้บริการของธุรกิจโลจิสติกส์ได้ด้วยกองรถบรรทุกที่ว่างและพร้อมใช้งานได้ ผ่านแพล็ตฟอร์มออนไลน์ที่ช่วยจับคู่ความต้องการขนส่ง อีกทั้งยังสามารถนำเสนอโซลูชั่นในการตรวจสอบและติดตามตำแหน่งรถบรรทุกได้แบบเรียลไทม์ การรายงานความปลอดภัยของสินค้า การแจ้งเตือน และอื่นๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ใช้บริการได้อีกด้วย ซึ่งความข้อมูลเหล่านี้ถือเป็นอีกหนึ่งแนวทางสำคัญที่สามารถเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับธุรกิจ ควบคู่ไปกับการประหยัดค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการกองรถ การบำรุงรักษา หรือการจ้างพนักงานขับรถแบบประจำ โดยเฉพาะในช่วงที่มีการผันผวนทางเศรษฐกิจสูง
What to Start with?
หลังจากทำความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการบริหารจัดการโลจิสติกส์แบบ Elastic logistics แล้ว หลายท่านอาจให้ความสนใจ ที่จะนำแนวคิดดังกล่าวไปปรับใช้กับการจัดการโลจิสติกส์ แต่อาจยังรู้สึกไม่มั่นใจหรือคิดไม่ตกว่าจะเริ่มต้นจากจุดไหนดี อย่างที่เราต่างทราบกันดีว่า ก้าวแรกของการเปลี่ยนแปลงคือส่วนที่ยากที่สุดเสมอ หากเราต้องการปรับปรุงให้ธุรกิจมีความยืดหยุ่นยิ่งขึ้น เราอาจเริ่มต้นได้จากการวิเคราะห์ ศึกษาข้อมูลจากระบบบริการจัดการสินค้าและซัพพลายเชนที่เราใช้อยู่ในปัจจุบันก่อน เพื่อมองให้เห็นถึงพฤติกรรมและแบบแผนที่เราอาจมองข้ามไป ว่ามีจุดใดบ้างที่ธุรกิจยังต้องการความยืดหยุ่น หรือคาดว่าจะได้รับผลประโยชน์เชิงบวกหากมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินการให้มีความยืดหยุ่นยิ่งขึ้น
ในทางเดียวกัน บางธุรกิจที่ยังไม่ได้มีการปรับใช้ระบบจัดการหรือรวบรวมข้อมูลใดๆ ก็อาจเริ่มต้นจากการใช้งานระบบบริหารการขนส่ง (TMS) ระบบการจัดการกองรถ/เรือ ข้อมูลและสถานะการบรรทุกสินค้า ระบบการจัดการซัพพลายเชน หรือระบบอื่นๆ ที่สามารถรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อให้ธุรกิจสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ในการวางแผนและกลยุทธ์ทางธุรกิจ เพื่อให้บริษัทได้รับประโยชน์มากที่สุดต่อไป
อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Logistics Mananger เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Logistics Manager หรือคลิกที่นี่