จากกรณีความขัดแย้งด้านการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน Drewry บริษัทที่ปรึกษาและผู้วิจัยอิสระสำหรับอุตสาหกรรมพาณิชย์นาวี คาดการณ์ว่า ต้นทางสินค้านำเข้าสู่สหรัฐอเมริกาจะกระจายตัวไปยังพื้นที่ต่างๆ มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในช่วงสองสามปีนี้ คาดว่าประเทศจีนจะยังคงเป็นแหล่งผลิตสินค้านำเข้าที่สำคัญสำหรับสหรัฐฯ ต่อไป เนื่องจากในประเทศผู้ผลิตอื่นยังคงมีข้อจำกัดด้านขีดความสามารถในการผลิต รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานที่ยังไม่เอื้ออำนวย ซึ่งในการพิจารณาย้ายฐานการผลิตสินค้าจากจีน บริษัทผู้ผลิตจำเป็นต้องชั่งน้ำหนักระหว่างต้นทุนในการโยกย้าย และผลกำไรที่ลดลงจากกำแพงภาษีที่สูงขึ้นของสหรัฐฯ
แม้ว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะยังคงมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง แต่แนวโน้มปริมาณสินค้าจากเอเชียสู่สหรัฐฯ ผ่านเส้นทางการค้า Transpacific ของปี 2019 มีโอกาสหดตัวลงเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่ปี 2009 อันเป็นผลมาจากความขัดแย้งระหว่างสองชาติผู้นำด้านเศรษฐกิจดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น โดยปริมาณสินค้าส่งออกจากภูมิภาคเอเชียเหนือ ซึ่งจีนเป็นประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่ มีการหดตัวลงประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ สวนทางกับการส่งออกจากกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่พบว่ามีการขยายตัวถึง 27 เปอร์เซ็นต์ นับจนถึงสิ้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา
ตัวเลขการส่งออกข้างต้นเป็นสัญญาณบ่งชี้ที่ค่อนข้างชัดเจนว่า บริษัทผู้ผลิตสินค้าบางส่วนเริ่มปรับตัว โดยโยกย้ายฐานการผลิตออกจากจีน เพื่อหลีกเลี่ยงอัตราภาษีนำเข้าที่ปรับสูงขึ้นของสหรัฐฯ และจากข้อมูลด้านศุลกากร พบว่ายอดการส่งออกสินค้าสู่สหรัฐฯ จากประเทศเวียดนาม มีการเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 35 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงเก้าเดือนแรกของปีนี้
จากการวิเคราะห์ข้อมูลของ Drewry พบว่าบริการขนส่งสินค้าในเส้นทาง Transpacific มีการเพิ่มท่าเรือปลายทางในประเทศเวียดนามเข้าสู่บริการมากขึ้น อีกทั้งสถิติตู้สินค้าผ่านท่าเรือในเวียดนามเฉลี่ยต่อปีในรอบทศวรรษนี้ ยังมีการขยายตัวเฉลี่ยสูงถึง 8 เปอร์เซ็นต์
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าในช่วงสองปีที่ผ่านมาจีนจะต้องประสบปัญหาความขัดแย้งในเชิงการค้ากับสหรัฐฯ จนส่งผลให้ส่วนแบ่งสินค้านำเข้าของสหรัฐฯ หดตัวลงเหลือเพียง 18 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับสัดส่วน 21 เปอร์เซ็นต์ในปี 2018 แต่ก็ยังคงมีสัดส่วนที่เหนือกว่าส่วนแบ่งการนำเข้าสินค้าจากประเทศเวียดนาม มาเลเซีย ไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ที่ได้รับการจับตามองว่าจะเป็นแหล่งการผลิตสินค้าทดแทนสินค้านำเข้าจากจีน ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดรวมกันเพียง 7 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
ในมุมมองของบริษัทผู้ผลิตสินค้า มีปัจจัยต่างๆ จำนวนมาก ที่ต้องนำมาพิจารณาในการตัดสินใจย้ายฐานการผลิต อาทิ ต้นทุนและทักษะพื้นฐานการผลิตของแรงงาน โครงสร้างพื้นฐานที่เอื้ออำนวย ระยะทางระหว่างแหล่งผลิตและตลาดสินค้า รวมไปถึงเสถียรภาพทางการเมืองและนโยบายด้านภาษี นอกจากนี้ ก็ยังไม่มีปัจจัยใดที่จะรับประกันได้อีกว่า แหล่งผลิตแห่งใหม่จะไม่ตกเป็นเป้าการโจมตีของนโยบายภาษีจากสหรัฐฯ ในอนาคต
ปัจจัยด้านโลจิสติกส์ ก็เป็นอีกเหตุผลสำคัญในการพิจารณาย้ายฐานการผลิตของบริษัทต่างๆ โดยพิจารณาจากดัชนีวัดประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ของธนาคารโลก (LPI) พบว่าเวียดนามมีการเติบโตด้านโลจิสติกส์ที่ก้าวกระโดด โดยในปี 2018 เวียดนามพัฒนาขึ้นมาจากนอกทำเนียบ 50 อันดับสูงสุด เข้ามาอยู่ในอันดับที่ 39 ในขณะที่จีนอยู่ในอันดับที่ 26 และประเทศไทยอยู่ที่อันดับที่ 32
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาในแง่ปริมาณตู้สินค้าที่มีให้บริการ พบว่าปริมาณตู้สินค้าที่ให้บริการนอกประเทศจีนยังมีค่อนข้างน้อย ซึ่งนอกจากจะส่งผลกระทบด้านต้นทุนการขนส่งแล้ว ยังอาจทำให้ซัพพลายเชนของสินค้าเกิดการสะดุดอีกด้วย โดยจากรายงานของ Drewry เมื่อสิ้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา มีบริการรายสัปดาห์ในเส้นทาง Transpacific ไปยังเวียดนามเพียง 13 บริการ เมื่อเทียบกับ 60 บริการในจีน ถึงแม้ว่าสายการเดินเรือต่างๆ จะสามารถปรับโครงสร้างการบริการได้ในระยะยาว หากแต่ในระยะสั้นและระยะกลางอาจมีข้อจำกัด
ในด้านการผลิต เวียดนามและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงต้องพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางในการผลิตจากประเทศผู้นำด้านเทคโนโลยีในภูมิภาค ซึ่งรวมไปถึงจีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ในขณะที่จีนมีศักยภาพการผลิตสินค้าได้อย่างสมบูรณ์ในตัวเอง ซึ่งส่งผลให้มีข้อจำกัดในการขยายฐานการผลิตของกลุ่มประเทศอาเซียน
ทั้งนี้ทั้งนั้น Drewry ชี้แนวโน้มทิศทางของภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจที่คาดว่าจะเปลี่ยนแปลงไป กล่าวคือ ในขณะที่จีนเริ่มปรับโครงสร้างโดยการพึ่งพาตลาดภายในประเทศในสัดส่วนที่สูงขึ้น การผลิตเพื่อส่งออกจากเวียดนามจะขยายตัวเพิ่มมากขึ้น และเข้ามาทดแทนส่วนแบ่งในตลาดสินค้านำเข้าของสหรัฐฯ ที่ลดลงของจีน ซึ่งมองว่าเวียดนามยังมีศักยภาพการเติบโตทางด้านการผลิตที่เพียงพอสำหรับกรณีนี้
อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Logistics Mananger เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Logistics Manager หรือคลิกที่นี่