DHL Global Forwarding เปิดตัวบริการขนส่งสินค้าทางรางเชื่อม ระหว่าง Kunming ประเทศจีน สู่ Vientiane สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) โดยใช้ระยะเวลาการเดินทางระหว่างต้นทางและปลายทางเพียงประมาณ 20–24 ชั่วโมง เมื่อเทียบกับการขนส่งข้ามพรมแดนทางถนนซึ่งปัจจุบันกินเวลาถึง 20–30 วัน อันเนื่องมาจากสภาพการจราจรคับคั่งระหว่างการข้ามพรมแดนจากจีนสู่เวียดนาม ซึ่งเป็นผลกระทบจากวิกฤต COVID-19 ทำให้มีรถบรรทุกติดค้างอยู่มากกว่า 2,000 คัน
“การเปิดบริการขนส่งทางรางในเส้นทางทั้งไปและกลับ ที่เชื่อมระหว่าง สปป.ลาว และจีน ช่วยสนับสนุนให้เราสามารถช่วยเหลือลูกค้าในการรักษาตารางการจัดส่งสินค้าโดยจำกัดความล่าช้าให้เหลือน้อยที่สุด บริการนี้ได้เปลี่ยน สปป.ลาวซึ่งเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลให้กลายเป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อสำหรับการขนส่งทางบก โดยปัจจุบัน DHL Global Forwarding เป็นผู้ให้บริการที่มีเครือข่ายการบริการทั้งทางถนนและทางรางที่ครอบคลุมมากที่สุดในภูมิภาค และในตอนนี้ลูกค้าของเราที่ต้องขนส่งสินค้าระหว่างจีนและประเทศในอาเซียนก็มีทางเลือกที่น่าสนใจอย่างมาก นอกเหนือจากการขนส่งทางอากาศและทางทะเล” Mr. Thomas Tieber ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท DHL Global Forwarding Southeast Asia กล่าว
บริการแบบเส้นทางประจำของ DHL นี้ ใช้ประโยชน์จากเส้นทางรถไฟจีน-ลาวสายใหม่ ซึ่งเป็นหนึ่งในหกของระเบียงเศรษฐกิจระหว่างประเทศภายใต้โครงการเส้นทางสายไหมใหม่ (Belt and Road Initiative – BRI) โดยทางรถไฟในส่วนของ สปป.ลาว มีความยาว 414 กิโลเมตร เชื่อมระหว่าง Kunming ในจีน และ Boten ทางตอนเหนือของ สปป.ลาว ก่อนจะเชื่อมต่อไปยัง Vientiane ซึ่งอยู่ใกล้กับชายแดนไทย ซึ่งเส้นทางรถไฟนี้สามารถลดระยะเวลาเดินทางจาก Vientiane สู่ชายแดนจีนลงเหลือเพียงไม่ถึงสี่ชั่วโมง เมื่อเทียบกับการขนส่งทางถนนซึ่งใช้เวลาถึง 15 ชั่วโมง ในสถานการณ์ปกติ
ทั้งนี้ การปฏิบัติการบนเส้นทางรถไฟจีน-ลาวสายใหม่นี้ DHL จะมอบบริการเชื่อมต่อการขนส่งสินค้าระหว่างจีนและตลาดอาเซียน ซึ่งครอบคลุมถึง ประเทศไทย เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย โดยเป็นการปฏิบัติการขนส่งด้วยรถบรรทุกจากทั่วประเทศจีนสู่ศูนย์กลางการปฏิบัติการ ที่ Kunming ก่อนที่จะขนถ่ายสินค้าผ่านเส้นทางรถไฟจีน-ลาวสายใหม่ จากนั้นจึงทำการขนส่งต่อผ่านเครือข่ายการขนส่งทางถนนที่แข็งแกร่งของ DHL ไปยังปลายทาง นั่นจึงทำให้บริการใหม่นี้เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ ทั้งประสิทธิภาพทางด้านต้นทุนและระยะเวลาการขนส่งสินค้าที่สามารถแข่งขันได้ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ต้นทุนด้านโลจิสติกส์อยู่ในระดับสูงเช่นในปัจจุบัน
ทั้งนี้ ในเส้นทางการขนส่งต่อเนื่องรถไฟ-รถบรรทุก Chengdu–Bangkok ต้นทุนค่าบริการจะถูกกว่าการขนส่งทางอากาศ 78 เปอร์เซ็นต์ และจัดส่งได้เร็วกว่าการขนส่งทางอากาศถึงสองวัน
ในเส้นทางการขนส่งต่อเนื่องรถไฟ-รถบรรทุก Kuala Lumpur–Chengdu ต้นทุนค่าบริการจะถูกกว่าการขนส่งทางอากาศ 70 เปอร์เซ็นต์ และใช้เวลาในการขนส่งเท่ากับการขนส่งทางอากาศ
ในเส้นทางการขนส่งต่อเนื่องรถไฟ-รถบรรทุก Shanghai–Singapore ต้นทุนค่าบริการจะถูกกว่าการขนส่งทางอากาศ 38 เปอร์เซ็นต์ และใช้เวลาในการจัดส่งนานกว่าการขนส่งทางอากาศสี่วัน
อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Logistics Mananger เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Logistics Manager หรือคลิกที่นี่