ทำความรู้จัก C/O Form: ใบเบิกทางการนำเข้า-ส่งออก พร้อมสิทธิประโยชน์ที่ไม่ควรมองข้าม

0
4901

หนึ่งในนั้นคือ หนังสือรับรองถิ่นกำเนิด (Certificate of Origin: C/O Form) เอกสารที่ใช้เป็นหลักฐานสำคัญในการยืนยันแหล่งที่มาของสินค้าซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการผ่านพิธีการศุลกากร รวมถึงการพิจารณาภาษีอากรที่เกี่ยวข้องอีกด้วย

LM ได้รับโอกาสจาก Kerry-Apex Thailand มาร่วมแบ่งปันข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวหนังสือรับรองถิ่นกำเนิด เพื่อให้ผู้อ่านทุกท่านได้ทราบถึงความสำคัญ วิธีการดำเนินเอกสารแต่ละประเภทให้ถูกต้อง รวมถึงสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ผู้นำเข้า-ส่งออกไม่ควรมองข้าม

C/O Form คือหนังสือรับรองที่ออกให้แก่ผู้ส่งออกสินค้า โดยระบุว่าสินค้ามีถิ่นฐานมาจากประเทศใด และยืนยันถึงกระบวนการผลิตที่ถูกต้องตามกฎหมายจากประเทศผู้ออกหนังสือรับรองฯ อนึ่ง การอธิบายถึงแหล่งที่มาของสินค้า วัตถุดิบ และกระบวนการผลิตสินค้านั้น จะช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการตรวจสอบสินค้า จัดการอัตราภาษี รวมถึงพิจารณาข้อห้ามของประเทศปลายทางได้อย่างราบรื่น โดยผู้ส่งออกยังสามารถใช้เอกสารนี้เพื่อขอรับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรสำหรับรายการสินค้าและประเทศที่กำหนดโดยกรมการค้าต่างประเทศได้อีกด้วย

หนังสือรับรองฯ มีสองประเภท ดังนี้

1. หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าทั่วไป (Ordinary Certificate of Origin) คือ เอกสารสำหรับผู้ส่งออกที่ใช้เพื่อยืนยันกับผู้ซื้อว่าสินค้าที่ส่งออกไปนั้นมีขั้นตอนกระบวนการผลิตและมีวัตถุดิบจากภายในประเทศผู้ออกหนังสือรับรองฯ อย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่ไม่สามารถนำไปขอยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีอากรขาเข้าได้ อาทิ ฟอร์ม C/O ทั่วไป

Form C/O ทั่วไป

2. หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าแบบพิเศษ (Preferential Certificate of Origin) คือ เอกสารสำหรับผู้ส่งออกเพื่อใช้ในการขอรับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร โดยผู้นำเข้า-ส่งออกจะได้รับสิทธิยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีสำหรับสินค้าที่ส่งออกไปยังประเทศผู้ให้สิทธิพิเศษทางการค้าโดยหนังสือรับรองฯ ประเภทนี้ จะถูกจำแนกแยกย่อยตามข้อตกลงทางการค้าต่างๆ ครอบคลุมข้อตกลงเขตการค้าเสรี (Free Trade Area: FTA) ความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ASEAN Trade In Goods Agreement: ATIGA)  และระบบสิทธิพิเศษทางการค้าระหว่างประเทศกำลังพัฒนา (GSTP) ฯลฯ

Form DFQF

ผู้ส่งออกที่ต้องการขอหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า เพื่อขอใช้สิทธิพิเศษในการยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีศุลกากรจากประเทศคู่ค้าภายใต้ระบบสิทธิพิเศษต่างๆ มีขั้นตอนการดำเนินการห้าขั้นตอน ดังนี้

ขั้นตอนที่ 1 ตรวจสอบพิกัดศุลกากรที่ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษี (ใช้เลขพิกัดศุลกากรของประเทศปลายทาง)

ขั้นตอนที่ 2 ทำบัตรประจำตัวผู้ส่งออก-นำเข้าสินค้า

ขั้นตอนที่ 3 ตรวจสอบคุณสมบัติของสินค้าทางด้านถิ่นกำเนิด พิกัดอัตราศุลกากรที่ 01-24 และ พิกัดอัตราศุลกากรที่ 25-97

ขั้นตอนที่ 4 จดทะเบียนการลงลายมือชื่อและตราประทับอิเล็กทรอนิกส์

ขั้นตอนที่ 5 ยื่นขอฟอร์มทางระบบออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า โดยแยกเป็นสองระบบคือ ระบบ DS และระบบ ESS

โดยการยื่นฟอร์มหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าทางระบบจำเป็นต้องใช้เอกสารเพิ่มเติม ดังนี้

  • ใบกำกับสินค้า (Invoice)
  • ใบตราส่งสินค้า อาทิ B/L, Air Way Bill หรืออื่นๆ
  • พิกัดสินค้าตอนที่ 01-24 แบบขอรับการตรวจคุณสมบัติของสินค้าทางด้านถิ่นกำเนิดเพื่อขอใช้สิทธิพิเศษทางด้านภาษีศุลกากร
  • พิกัดสินค้าตอนที่ 25-97 ใบรับรองผลการตรวจคุณสมบัติสินค้าทางด้านถิ่นกำเนิดเพื่อขอใช้สิทธิพิเศษทางด้านภาษีศุลกากรที่ออกโดยกองบริหารการนำเข้าและรับรองถิ่นกำเนิด กรมการค้าต่างประเทศ ผ่านทางระบบ Rover Plus

นอกจากห้าขั้นตอนที่กล่าวไปข้างต้น กรมการค้าต่างประเทศได้ออกประกาศสินค้าเฝ้าระวัง (ฉบับที่สอง) ปี 2023 สำหรับผู้ที่ส่งออกสินค้าดังกล่าวไปยังสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป โดยการกำหนดแนวปฏิบัติในการขอหนังสือรับรองฯ ฟอร์ม C/O ทั่วไป ดังนี้

1. ผู้ส่งออกต้องตรวจสอบฉบับปี (Version) ของพิกัดศุลกากรสินค้าเฝ้าระวังตามประกาศกรมฯ กับประเทศผู้นำเข้าก่อนการยื่นขอต้นทุนและหนังสือรับรองฯ ทุกครั้ง

2. ตามประกาศกรมฯ (ฉบับที่สอง) ปี 2023 สินค้าเฝ้าระวังใช้พิกัดศุลกากรฉบับปี 2022 (HS 2022) ซึ่งเป็นไปตามองค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) แต่ในระบบการให้บริการออกหนังสือรับรองฯ Form C/O ทั่วไป ใช้พิกัดฯ ฉบับปี 2017 (HS 2017) โดยผู้ส่งออกสามารถตรวจสอบพิกัดฯ ของรายการสินค้าเฝ้าระวังที่มี Version ต่างกันได้ที่เว็บไซต์ของกรมการค้าต่างประเทศ

หากมองอย่างรอบด้าน หนังสือรับรองฯ ไม่เพียงเป็นเอกสารที่ช่วยให้การดำเนินงานขนส่งเป็นไปอย่างราบรื่นและสร้างสิทธิประโยชน์ทางภาษีเท่านั้น แต่ยังสามารถส่งเสริมการต่อยอดทางธุรกิจและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันในทางอ้อมอีกด้วย ในที่นี้จะยกตัวอย่างถึงประโยชน์ที่ผู้นำเข้า-ส่งออก และผู้ผลิตจะได้รับจากหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าแบบพิเศษในแบบฟอร์ม FTA

สำหรับผู้ผลิต แบบฟอร์ม FTA จะช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงวัตถุดิบที่มีราคาถูกลง รวมถึงเทคโนโลยีและอุปกรณ์การผลิตที่ทันสมัยจากประเทศร่วมการค้าฯ ปัจจัยเหล่านี้ สามารถสร้างความยืดหยุ่นในกระบวนการผลิตจากต้นทุนการผลิตสินค้าต่ำลงและประสิทธิภาพการผลิตที่สูงขึ้น

นอกจากนี้ ผู้ส่งออกยังสามารถขยายโอกาสทางธุรกิจจากการเข้าถึงตลาดการค้าใหม่ๆ ได้ง่ายขึ้นด้วยข้อจำกัดทางการค้าที่ลดลง และดึงดูดผู้ซื้อหรือผู้นำเข้าสินค้าด้วยความน่าเชื่อที่เพิ่มขึ้นจากสินค้าคุณภาพดีราคาแข่งขันได้ พร้อมกับสิทธิการลดหย่อนภาษีนำเข้าที่ตลาดปลายทาง

ในขณะเดียวกันผู้นำเข้า ก็สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดได้หลากหลายและได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าจากการนำเข้าสินค้าคุณภาพดีและมีราคาที่แข่งขันได้เพิ่มมากขึ้น ทั้งยังปรับตัวต่อการแข่งขันในระดับโลกได้อย่างรวดเร็วด้วยสิทธิประโยชน์ทางภาษีตามข้อตกลงการค้าฯ

ดังที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่าหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า เปรียบเสมือนใบเบิกทางสำคัญสำหรับผู้นำเข้า-ส่งออก จากการรับรองว่าสินค้าผ่านการตรวจสอบโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรียบร้อยแล้ว ทั้งยังสร้างผลประโยชน์ทางตรงในด้านการลดหย่อนหรือยกเว้นภาษี และสร้างมูลค่าในทางอ้อมให้แก่การดำเนินธุรกิจได้อีกมากมาย เป็นเอกสารสำคัญที่ผู้นำเข้า-ส่งออกสินค้าไม่ควรมองข้ามเป็นอย่างยิ่ง


อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Logistics Mananger เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Logistics Manager หรือคลิกที่นี่

บทความก่อนหน้านี้Kerry Logistics Network คว้ารางวัล Asian 3PL ครั้งที่ 8 จาก Supply Chain Asia Awards
บทความถัดไปDHL ขยายระยะเวลาการเป็นพันธมิตรโลจิสติกส์อย่างเป็นทางการ ของสมาพันธ์ FIL