การแข่งขันที่รุนแรงในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ ทำให้ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ต่างมุ่งมั่นพัฒนาศักยภาพของตนเอง เพื่อให้สามารถตอบสนองลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านการให้บริการ บุคลากร เทคโนโลยี รวมไปถึงการขยายรูปแบบบริการขนส่งสินค้าเพื่อตอบสนองทุกความต้องการของลูกค้า
ล่าสุด กลุ่มบริษัท CMA CGM ผู้ให้บริการขนส่งตู้สินค้าชั้นนำของโลกจากฝรั่งเศส ได้ยกระดับการให้บริการในประเทศไทยขึ้นไปอีกขั้น ด้วยการเปิดบริการเรือขนส่งสินค้าชายฝั่ง (Barge Service) จากท่าเรือสุขสวัสดิ์ (Suksawat Terminal) เพื่อเป็นทางเลือกให้กับลูกค้าผู้ส่งออกในการขนส่งตู้สินค้าจากกรุงเทพมหานครและพื้นที่ใกล้เคียงไปยังท่าเรือแหลมฉบัง
New Barge Service
เป็นที่ทราบกันดีว่า ปัจจุบันท่าเรือแหลมฉบังได้ทำหน้าที่เป็นท่าเรือหลักในการนำเข้า-ส่งออกตู้สินค้าของประเทศไทย โดยรับช่วงต่อจากท่าเรือกรุงเทพ ที่มีข้อจำกัดทางด้านพื้นที่ การเข้าถึง และขีดความสามารถในการรองรับเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่
การนำส่งตู้สินค้าไปยังท่าเรือแหลมฉบังสามารถทำได้ผ่านหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นการใช้รถบรรทุกหัวลาก การขนส่งทางรถไฟผ่านสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่องลาดกระบัง (ICD ลาดกระบัง) หรือ การขนส่งด้วยเรือขนส่งสินค้าชายฝั่ง (Barge) โดยแต่ละช่องทางก็มีข้อได้เปรียบเสียเปรียบแตกต่างกันออกไป ทั้งในด้านค่าใช้จ่าย ตำแหน่งที่ตั้งสำหรับส่งตู้สินค้า ระยะเวลาในการขนส่ง รวมไปถึงความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
เมื่อเร็วๆ นี้ CMA CGM ได้เปิดให้บริการเรือขนส่งสินค้าชายฝั่งเชื่อมต่อไปยังท่าเรือแหลมฉบัง โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ส่งออกในการขนส่งตู้สินค้าไปยังท่าเรือแหลมฉบัง โดยเฉพาะผู้ส่งออกอาหารทะเลแช่แข็ง กับอาหารกระป๋อง จากสมุทรสาคร และผู้ส่งออก สิ่งทอ เสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่มจากภาคตะวันตก เนื่องจากตำแหน่งที่ตั้งของท่าเรือสุขสวัสดิ์ ตั้งอยู่บริเวณฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา บนถนนสุขสวัสดิ์ จังหวัดสมุทรปราการ ใกล้กับถนนวงแหวนอุตสาหกรรม และทางพิเศษกาญจนาภิเษก ทำให้ผู้ส่งออกที่มีที่ตั้งอยู่ในฝั่งทิศใต้และตะวันตกของกรุงเทพฯ สามารถเดินทางมายังท่าเรือสุขสวัสดิ์ด้วยระยะทางที่ใกล้กว่า ลดภาระค่าใช้จ่ายในการใช้รถบรรทุกหัวลากตู้สินค้าไปยัง ICD ลาดกระบัง หรือท่าเรือเอกชนริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาส่วนใหญ่
ยิ่งไปกว่านั้น บริการเรือขนส่งสินค้าชายฝั่งจากท่าเรือสุขสวัสดิ์ ยังเชื่อมต่อโดยตรงกับท่าเทียบเรือ LCIT ในท่าเรือแหลมฉบัง และเชื่อมต่อกับบริการ JAX จาก CMA CGM ซึ่งให้บริการขนส่งสินค้าไปยังสหรัฐอเมริกา รวมถึงบริการขนส่งสินค้าไปยังญี่ปุ่น (JTV service) และบริการเรือถ่ายลำสินค้า (Feeder) บน LCX service ไปยังสิงคโปร์ ผู้ส่งออกจึงมั่นใจได้ว่าจะได้รับกำหนดเวลาปิดรับคืนตู้สินค้า (Cut Off Time) ที่ยืดหยุ่นกว่า จากความร่วมมือพิเศษระหว่างกลุ่มบริษัท CMA CGM และท่าเทียบเรือ LCIT ทำให้สามารถบริหารจัดการการขนส่งสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นการขยายโอกาส และเพิ่มทางเลือกแก่ผู้ส่งออก-นำเขา ให้สามารถเชื่อมต่อกับตลาดอื่นๆ ทั่วโลก
นอกจากนี้ เรือขนส่งสินค้าชายฝั่งยังสามารถบรรทุกตู้สินค้าได้สูงสุดถึง 250 ทีอียูต่อลำ ทำให้เป็นโหมดการขนส่งตู้สินค้าภายในประเทศที่สามารถรองรับตู้สินค้าต่อเที่ยวได้มากที่สุด และมีอัตราการก่อมลภาวะที่ต่ำกว่าโหมดการขนส่งอื่นๆ เหมาะสำหรับลูกค้าที่เน้นให้ความสำคัญด้านการปฏิบัติการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังสอดคล้องกับนโยบายลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ 40 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2030 และเป้าหมายการปลอดคาร์บอนไดออกไซด์ภายในปี 2050 ของกลุ่มบริษัท CMA CGM ด้วย
Door-to-Door Logistics Provider
บริการเรือขนส่งสินค้าชายฝั่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการพัฒนาบริการตามยุทธศาสตร์สำคัญของ CMA CGM ในประเทศไทย ในการมอบบริการโลจิสติกส์ภายในประเทศแบบครอบคลุมตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง (Door-to-Door) อย่างไร้รอยต่อ ผ่านโหมดการขนส่งสินค้ารูปแบบต่างๆ ที่สามารถตอบสนองทุกความต้องการของลูกค้าได้อย่างตรงจุด
โดยปกติแล้ว การขนส่งสินค้าจากจุดเริ่มต้นไปยังจุดหมายปลายทาง ผู้ส่งออกต้องวางแผนการขนส่งและประสานงานกับผู้ให้บริการต่างๆ ด้วยตนเอง นับตั้งแต่รถบรรทุกหัวลาก เรือขนส่งสินค้าชายฝั่ง เรือบรรทุกสินค้า ท่าเทียบเรือ และอื่นๆ เพื่อให้กระบวนการขนส่งดำเนินไปอย่างราบรื่น หากแต่ก็เป็นกิจกรรมที่สิ้นเปลืองทั้งเวลาและกำลังแรงงานเป็นอย่างมาก ในการที่จะประสานผู้ให้บริการหลายฝ่าย หลายองค์กร ให้สามารถทำงานรับช่วงต่อกันได้อย่างราบรื่น ในขณะที่กิจกรรมเหล่านี้ก็ไม่ได้มีส่วนเสริมสร้างศักยภาพในธุรกิจหลักของลูกค้าผู้ส่งออกสินค้าแต่อย่างใด
CMA CGM ประเทศไทย เล็งเห็น Pain Point ในประเด็นปัญหาดังกล่าว จึงพัฒนาบริการที่ครอบคลุมกระบวนการขนส่งสินค้าได้ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง รวมไปถึงบริการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ โดยใช้ประโยชน์จากความเชี่ยวชาญของหน่วยธุรกิจในเครือกลุ่มบริษัท CMA CGM ซึ่งลูกค้าสามารถขอรับบริการได้จากตัวแทนของ CMA CGM (Thailand) โดยตรง รวมทั้งยังสามารถขอรับคำปรึกษาด้านการส่งออก เพื่อค้นหาโซลูชันการขนส่งที่มีประสิทธิภาพ คุ้มค่า และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่สุดอีกด้วย
ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจที่จะยกระดับบริการในประเทศไทยของกลุ่มบริษัท CMA CGM ด้วยการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ส่งออก รวมทั้งพัฒนาบริการขนส่งแบบ Door-to-Door เพื่อมอบบริการขนส่งสินค้าที่ลื่นไหลและสะดวกสบายยิ่งขึ้นให้แก่ลูกค้า
อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Logistics Mananger เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Logistics Manager หรือคลิกที่นี่