CMA CGM ปฏิบัติการเรือขนส่งสินค้า 15,000 ทีอียู เข้าเทียบท่าเรือในญี่ปุ่น

0
728

เมื่อวันที่ 15 มกราคมที่ผ่านมา กลุ่มสายการเดินเรือ CMA CGM ได้ต้อนรับการเข้าเทียบท่าของเรือ CMA CGM ARGENTINA ณ ท่าเทียบเรือ Honmoku D4 ในท่าเรือ Yokohama ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเรือลำดังกล่าวเป็นหนึ่งในกองเรือขนส่งสินค้า ขนาด 15,000 ทีอียูสองลำ ที่ปฏิบัติการในบริการขนส่งสินค้ารายสัปดาห์ ในชื่อบริการ Asia Central South America 1 (ASCA1)

โดยเรือ CMA CGM ARGENTINA เป็นเรือขนส่งตู้สินค้าขนาดใหญ่ที่สุดซึ่งปฏิบัติการในบริการเส้นทางประจำที่เข้าเทียบท่าเรือในญี่ปุ่น โดยเรือลำนี้กำลังอยู่ระหว่างการให้บริการขนส่งสินค้านำเข้าจากภูมิภาคอเมริกากลางและอเมริกาใต้ อาทิ ผลไม้สดจากเอกวาดอร์และกัวเตมาลา รวมถึงกาแฟและมอลต์จากโคลอมเบียและเม็กซิโก

บริการ ASCA1 เป็นบริการขนส่งสินค้าทางทะเลซึ่งปฏิบัติการโดยสายการเดินเรือ CMA CGM เชื่อมต่อระเบียงการค้าสำคัญในเส้นทางการค้าเอเชีย-ละตินอเมริกา โดยเรือขนส่งสินค้าในบริการดังกล่าวจะเข้าเทียบท่าที่ Honmaku D4 เป็นประจำทุกสัปดาห์ ทั้งนี้ ท่าเทียบเรือ Honmaku D4 ซึ่งปฏิบัติการโดย CMA CGM นั้นสามารถรองรับปริมาณสินค้าผ่านท่าได้มากกว่า 550,000 ทีอียูต่อปี หรือคิดเป็น 15 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณสินค้าผ่านท่าทั้งหมดของท่าเรือ Yokohama

หลังจากเดินทางออกจากท่าเรือ Yokohama เรือ CMA CGM ARGENTINA จะปฏิบัติการต่อไปยังท่าเรือ Busan เกาหลีใต้ และท่าเรือ Shekou ในจีน เพื่อจบเส้นทางบริการในขาตะวันตกของบริการ ACSA 1 ก่อนจะเริ่มปฏิบัติการในเส้นทางขาตะวันออกโดยเริ่มต้นจาก Shekou ไปยัง Hong Kong, Kaohsiung, Ningbo, Shanghai, Busan, Manzanillo, Lazaro Gardens, Buenaventura, Callao, Posorja, Lazaro, Manzanillo, Yokohama , Busan และสิ้นสุดที่ท่าเรือ Shekou อีกครั้ง

Mr. Hideki Uchida ประธานสายการเดินเรือ CMA CGM ประจำประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า “ปัจจุบัน กองเรือขนส่งสินค้า ขนาด 15,000 ทีอียู ของกลุ่มสายการเดินเรือ CMA CGM ได้กลายเป็นเรือขนส่งสินค้าที่ใหญ่ที่สุดที่เข้าเทียบท่าในญี่ปุ่นในฐานะเรือขนส่งสินค้าในบริการประจำ การปฏิบัติการด้วยเรือที่มีขนาดใหญ่ขึ้นในบริการ ASCA1 นี้ ไม่เพียงช่วยให้ผู้ใช้บริการสามารถขนส่งสินค้าประเภทของสดมายัง Yokohama ได้มากขึ้นในเที่ยวเดียวเท่านั้น แต่ยังเป็นส่วนหนึ่งของแผนในการเพิ่มปริมาณสินค้าขาเข้าจากอเมริกากลางและอเมริกาใต้ในอนาคตด้วย ยิ่งไปกว่านั้น เรือขนส่งสินค้าลำใหม่นี้ยังจะช่วยเพิ่มความคล่องตัวทางการค้าและการซื้อขายสินค้าระหว่างภูมิภาคละตินอเมริกากับทวีปเอเชียให้เป็นไปอย่างสะดวกมากขึ้นอีกด้วย”


อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Logistics Mananger เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Logistics Manager หรือคลิกที่นี่

บทความก่อนหน้านี้DHL Supply Chain เตรียมขยายคลังสินค้าในไต้หวันตอนเหนือ
บทความถัดไปMitsubishi Electric กระชับความร่วมมือกับ Broekman Logistics สู่พันธมิตรระยะยาว