จดหมายเปิดผนึก จาก Mr. Stephen Ashworth กรรมการผู้จัดการ Hutchison Ports ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศไทย

0
2306

เรื่อง Hutchinson Ports Thailand ท่าเรืออัจฉริยะ – รักษ์โลก

ในฐานะกรรมการผู้จัดการของ Hutchison Ports Thailand (HPT) กอปรกับความช่วยเหลือและคำแนะนำจากคณะผู้บริหาร ผมต้องแน่ใจว่าท่าเทียบเรือของเราทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลอยู่เสมอ ปัจจุบัน ท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งเป็นที่ ที่ HPT ได้เปิดดำเนินการ ห้าท่าเทียบเรือนั้น ถือได้ว่าเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยผลักดันและพัฒนาเศรษฐกิจของไทยให้เติบโตขึ้น ทว่า การดำเนินงานด้านท่าเรือด้วยวิถีปฏิบัติดั้งเติม มีส่วนทำให้ภาวะอากาศเปลี่ยนแปลง

เนื่องด้วยพื้นที่รอบท่าเรือนั้น มักมีประชากรหนาแน่น และมีกิจกรรมมากมาย ดังนั้นการตอบสนองอย่างเหมาะสมต่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่ไม่พึงประสงค์ที่เกิดจากการปฎิบัติงานของท่าเรือ จึงถือเป็นภารกิจที่สำคัญยิ่งสำหรับกลุ่มบริษัท Hutchison Ports บทบาทสำคัญของท่าเรือในซัพพลายเชนระหว่างประเทศ รวมทั้งเม็ดเงินมหาศาลที่จำเป็นสำหรับการสร้างโครงสร้างพื้นฐานของท่าเรือ แสดงให้เห็นว่าท่าเรือนั้น เป็นการลงทุนทางธุรกิจที่สำคัญและจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนและดูแล

เป็นเวลาหลายทศวรรษ ที่ท่าเรือหลายแห่งทั่วโลก นำนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในเรื่องการประหยัดพลังงานและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพกันอย่างน้อยมาก เป็นผลให้ ท่าเรือยังคงเป็นผู้ได้สร้างมลภาวะสู่ธรรมชาติมาอย่างต่อเนื่อง แต่ที่ HPT เรากำลังเปลี่ยนแปลงบางอย่างในทางที่ดี เพื่อเป็นท่าเรือที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม ที่ผู้ประกอบการท่าเรือต้องเผชิญ เป็นหัวข้อที่ผมพูดถึงไปแล้ว กระนั้น ภารกิจรักษ์โลกก็ถือเป็นเป็นสิ่งที่ HPT และกลุ่มบริษัท Hutchison Ports ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง และผมขอถือโอกาสนี้ เพื่อสรุปข้อมูลแก่ทุกท่าน

Green Port

ท่าเทียบเรือสีเขียว คือ รูปแบบท่าเรือหรือแนวคิดเพื่อประสานความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจและการพัฒนาอย่างยั่งยื่น โดยการจะบรรลุเป้าหมายได้นั้น จำต้องมีองค์กรและผู้นำที่มีประสิทธิภาพ นโยบายและขั้นตอนการปฏิบัติงานที่สอดคล้อง การคิดเชิงนวัตกรรม รวมถึงปรัชญาการบริหารจัดการที่ให้ความสำคัญกับการประหยัดพลังงานและรักษาสภาพแวดล้อม

เพื่อให้ก้าวเข้าสู่การเป็นท่าเทียบเรือสีเขียว ผู้ประกอบการท่าเทียบเรือต้องดำเนินงานภายใต้เกณฑ์และมาตรฐานสากลสำหรับการบริหารจัดการท่าเทียบเรือและการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมีจุดประสงค์หลักเพื่อลดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม และลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกในบริเวณรอบท่าเทียบเรือ

Mr. Stephen Ashworth กรรมการผู้จัดการ Hutchison Ports ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศไทย

ในการนี้ ผมมีความภาคภูมิใจที่จะกล่าวว่า HPT ได้ดำเนินการและพัฒนาท่าทียบเรือของเราอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน โดยเฉพาะท่าเทียบเรือ ชุด ดี โดยในปีที่ผ่านมา ท่าเทียบเรือ ชุด ดี เฟสที่ 1 ได้เปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบ และได้รองรับเรือขนส่งตู้สินค้าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่มีอยู่ ณ ปัจจุบัน พร้อมกันนั้น เราผลักดันโครงการพัฒนาท่าเทียบเรือเพื่อความยั่งยืนไปอีกขั้น ด้วยการใช้เครื่องมือ ปั้นจั่นยกตู้สินค้าหน้าท่าและปั้นจั่นยกตู้สินค้าในลานแบบล้อยาง (RTG) ระบบพลังงานไฟฟ้าที่ควบคุมการทำงานจากระยะไกล

นอกจากนี้ เรายังอยู่ในระหว่างการทดสอบ การใช้งานรถบรรทุกตู้สินค้าไร้คนขับจำนวนหกคันอีกด้วย  หากการทดสอบดังกล่าวประสบผลสำเร็จ และรถบรรทุกฯ สามารถปรับใช้งานร่วมกับกลุ่มรถบรรทุกตู้สินค้าของเราได้ ไม่เพียงแต่รถบรรทุกตู้สินค้าไร้คนขับจะประหยัดพลังงานกว่า หากแต่จะปฏิบัติงานได้เงียบกว่า ซึ่งลดมลภาวะทางเสียง เมื่อเทียบกับกลุ่มรถบรรทุกตู้สินค้า

อีกทั้ง เรายังมีแผนดำเนินการอื่นๆ ทั้งที่ปฏิบัติสำเร็จแล้วและกำลังจะดำเนินการต่อไป ประกอบไปด้วย ระบบติดตามตู้สินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ แผนการปรับปรุงประตูทางเข้าท่าเทียบเรือระบบอัตโนมัติ รวมทั้งบริการชำระเงินต่างธนาคาร ที่จะช่วยลดการใช้กระดาษลงได้เป็นจำนวนมาก ยังเป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ส่งให้เราก้าวสู่การเป็นท่าเทียบเรือสีเขียว

ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา HPT ได้เปิดตัวโครงการ ‘Go Green’ ซึ่งบุคลากรของเราล้วนมีความกระตือรือร้นและพร้อมให้ความร่วมมืออย่างเต็มใจ โดยโครงการดังกล่าว มีแนวทางการปฏิบัติสำหรับการรักษาสภาพแวดล้อมที่ทำได้ทันที อย่างเป็นระบบ สามารถควบคุมและวัดผลได้ เช่น การประหยัดน้ำและพลังงานไฟฟ้า การลดการใช้พลาสติก รวมถึงการรณรงค์คัดแยกประเภทขยะ

เรายังทำการปลูกต้นทองอุไรจำนวน 200 ต้น ณ หน้าท่าเทียบเรือ ชุด ดี โดยความร่วมมือของท่าเรือแหลมฉบัง พร้อมกับวางแผนปลูกต้นไม้เพิ่มเติมในลักษณะเดียวกัน ณ ท่าเทียบเรือชุด เอ และ ซี อีกด้วย

Efficiency, Productivity & Sustainable Development

ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและกิจการต่างๆ ที่มีส่วนข้องเกี่ยวกับธุรกิจท่าเทียบเรือนั้นมีอยู่จำนวนมาก ดังนั้น ท่าเทียบเรือจึงเป็นศูนย์กลางที่รวบรวมองค์ประกอบต่างๆ ทางธุรกิจเหล่านี้เข้าด้วยกัน

หากพูดถึงบทบาทของภาคส่วนธุรกิจขนส่งสินค้าทางทะเลในเศรษฐกิจโลกแล้ว นับได้ว่ามีความสำคัญต่อตลาดการค้าต่างประเทศเป็นอย่างมาก การเติบโตของเศรษฐกิจและการค้าได้สร้างแรงกดดันให้แก่อุตสาหกรรมขนส่งสินค้าทางทะเล ในแง่ของพัฒนาการเพื่อความยั่งยืนและการลดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม

ลูกค้าของเราซึ่งได้แก่ สายการเดินเรือ รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต่างแสดงความต้องการให้ท่าเรือพัฒนาประสิทธิภาพให้ดียิ่งขึ้น การนี้  เราพบว่าการลงทุนในด้านการพัฒนาเทคโนโลยี มีส่วนช่วยเพิ่มความสามารถด้านการให้บริการ ประสิทธิภาพ ความปลอดภัย การเติบโตอย่างยั่งยืนและความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

โดยเครื่องมือปั้นจั่นยกตู้สินค้าหน้าท่าและปั้นจั่นยกตู้สินค้าในลานแบบล้อยางที่ปฏิบัติงานด้วยระบบควบคุมการทำงานจากระยะไกล ในท่าเทียบเรือ ชุด ดี ของเรานั้น ตอบโจทย์การรักษ์โลกทุกประเด็น พร้อมกันนั้น ระบบป้องกันการชนสิ่งกีดขวาง ระบบ Anti-Lift ซึ่งป้องกันอุบัติเหตุการยกตู้สินค้า ระบบตรวจสอบตู้สินค้าบนเรือขนส่งสินค้า และระบบระบุตำแหน่งวางตู้สินค้าบนหางลาก ยังช่วยเพิ่มความปลอดภัยแก่พนักงาน ผู้ปฏิบัติการบนเรือขนส่งสินค้า พนักงานขับรถบรรทุกรับสินค้า รวมถึงเจ้าของสินค้าอีกด้วย

นอกจากนี้ การที่พนักงานควบคุมปั้นจั่นทำงานในห้องควบคุมจากระยะไกล แทนการปฏิบัติการในห้องควบคุมบนตัวปั้นจั่น ก็ช่วยลดการสัมผัสมลภาวะทางเสียงได้ อีกทั้งยังช่วยให้เราดำเนินงานได้อย่างยืดหยุ่น ในแง่ของการจัดการทรัพยากรบุคลากร ยิ่งเราปรับปรุงประสิทธิภาพระบบและการปฏิบัติการมากขึ้น เราก็ยิ่งเห็นประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของปั้นจั่นยกตู้สินค้าหน้าท่าที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย

Looking to the Future

เนื่องจาก Hutchinson Ports Group กำหนดให้ท่าเทียบเรือที่ท่าเรือแหลมฉบัง เป็นศูนย์กลางการปฏิบัติการด้านการทดสอบนวัตกรรมใหม่ๆ เราจึงเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ได้รับเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ มาทดสอบการปฏิบัติการอยู่เสมอ เป้าหมายของ HPT คือการสร้างความสัมพันธ์ในลักษณะที่เอื้อประโยชน์ต่อกันแบบน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่ากับชุมชนรอบข้าง การเปิดรับแผนการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน ในฐานะปัจจัยขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ จะสร้างประโยชน์ต่อ HPT และการท่าเรือแห่งประเทศไทย พร้อมกับสร้างการเติบโตทางธุรกิจให้กับระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกและประเทศไทย 4.0 อีกด้วย

สุดท้ายนี้ ผมขอเน้นย้ำว่า การริเริ่มโครงการพัฒนาท่าเทียบเรือสีเขียว ไม่เพียงแต่สะท้อนความพยายามรักษาสภาพแวดล้อม หากแต่ยังเป็นการแสดงถึงการเปิดรับแนวคิดการสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่มีประสิทธิภาพ และปลอดภัยมากขึ้นให้แก่พนักงานทุกคน องค์ประกอบทั้งหมดที่กล่าวมา จะนำมาซึ่งประสิทธิภาพการปฏิบัติงานที่เพิ่มพูนขึ้นอย่างยั่งยืน พร้อมกับมาตรฐานคุณภาพบริการที่เรามอบให้ลูกค้าและผู้ใช้บริการท่าเทียบเรือ ที่ได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้น ซึ่งจะสร้างข้อได้เปรียบให้แก่ HPT ในภาวะของอุตสาหกรรมที่เต็มไปด้วยความท้าทายอย่างในปัจจุบัน


อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Logistics Mananger เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Logistics Manager หรือคลิกที่นี่

บทความก่อนหน้านี้ONE เปิดบริการ EWX เชื่อมยุโรป-แอฟริกาตะวันตก
บทความถัดไปCMA CGM ปฏิบัติการเติมเชื้อเพลิงเรือตู้สินค้าพลังงาน LNG ครั้งแรกของโลกใน Rotterdam