การใช้เทคนิคและซอฟต์แวร์การจัดการคลังสินค้าที่ทันสมัย ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินธุรกิจโลจิสติกส์ให้ประสบความสำเร็จ เนื่องจาก การจัดการคลังสินค้า ถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญอย่างยิ่งในกระบวนการโลจิสติกส์ การดำเนินงานจึงต้องเป็นไปอย่างราบรื่นและมีมาตรฐาน เพื่อป้องกันความบกพร่องที่อาจเกิดขึ้นและส่งผลกระทบตามมาได้อย่างต่อเนื่อง
ด้วยพัฒนาการของเทคโนโลยีที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลบังคับให้ภาคธุรกิจต้องปรับตัวเข้าหานวัตกรรมใหม่ๆ และนำมาปรับใช้เพื่อพัฒนาการปฏิบัติงานให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด และสามารถรองรับความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มขึ้นได้ โดยปัจจุบัน มีการสอดประสานเทคโนโลยีเข้ากับข้อมูลการทำงานและการดำเนินงานในขั้นตอนต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการสินค้าและซอฟต์แวร์ให้มีความความรวดเร็วและแม่นยำยิ่งขึ้น
นิตยสาร LM ฉบับนี้ขอนำท่านเข้าสู่ยุคสมัยแห่งการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligence: AI ในการจัดการโลจิสติกส์ที่ก้าวไกลมากยิ่งขึ้น ด้วยบทสัมภาษณ์จาก คุณอรอุพินทุ์ นิธิปภาวรินท์ ผู้จัดการฝ่ายขาย ภาคส่วน Automation และ Mr. Emil Nauska ผู้จัดการกลุ่มบริษัท Toyota Material Handling International ผู้สร้างนวัตกรรม และผู้ผลิตรถฟอร์คลิฟต์แบบไร้คนขับ หรือ Autopilot forklifts มาให้เกียรติพูดคุย และให้ข้อมูลเจาะลึกถึงเรื่องนี้ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการลงทุนในธุรกิจของท่านต่อไป
UNDERSTANDING AUTOPILOT FORKLIFTS
เทคโนโลยีรถฟอร์คลิฟต์แบบไร้คนขับ หรือ Autopilot Forklift อาจยังไม่ได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการธุรกิจโลจิสติกส์ในประเทศไทยมากนัก อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน ธุรกิจในอุตสาหกรรมต่างๆ ถูกผลักดันให้ปรับตัวเข้าสู่ยุคเทคโนโลยีที่ล้ำหน้าขึ้น เพียงไม่นานเมื่อเทคโนโลยีฟอร์คลิฟต์แบบไร้คนขับได้เข้าสู่ตลาดการจัดการสินค้าของไทย ‘Autopilot Forklift’ อาจกลายหนึ่งในตัวเลือกแถวหน้าในการจัดการคลังสินค้าต่อไปในอนาคตได้
“รถฟอร์คลิฟต์แบบไร้คนขับเป็นการประสานโซลูชั่นการทำงานร่วมกันระหว่างฮาร์ดแวร์
และซอฟท์แวร์เข้าด้วยกัน”
“โดยรถฟอร์คลิฟต์แบบไร้คนขับของโตโยต้านั้นสามารถทำงานร่วมกันกับอุปกรณ์อัตโนมัติต่างๆ เช่น เครื่องจัดเรียงพาเลท, หุ่นยนต์, ประตูอัตโนมัติ, สายพานลำเลียง และสัญญาณเพลิงไหม้ได้ โดยชุดซอฟท์แวร์ของเรา มีความสามารถที่หลากหลาย ยกตัวอย่างเช่น สามารถทำงานร่วมกันกับระบบการจัดการคลังสินค้า (WMS) ของลูกค้าได้ ทั้งนี้ในส่วนของการปฏิบัติงาน เราสามารถออกแบบรถฟอร์คลิฟต์แบบไร้คนขับให้เหมาะสมตามความต้องการของแต่ละลูกค้าได้อีกด้วย”
โดยพื้นฐานของรถฟอร์คลิฟต์แบบไร้คนขับนั้น ถูกผลิตขึ้นบนแพลตฟอร์มเดียวกันกับรถฟอร์คลิฟต์ปกติ โดยมีการติดตั้งเซ็นเซอร์ตรวจจับเพื่อความปลอดภัยระดับ Class สูงสุด และระบบนำทางเพิ่มขึ้น โดยใช้การนำทางแบบธรรมชาติ (Natural navigation) ด้วยการใช้เสาหรือกำแพงที่มีอยู่แล้วเป็นตัวนำทาง หรือใช้การนำทางด้วยแถบสะท้อนแสง (Reflector navigation) และยังสามารถปรับการใช้งานทั้งสองรูปแบบเข้าด้วยกันได้
นอกจากนี้ รถฟอร์คลิตฟ์แบบไร้คนขับของโตโยต้า ยังมีจุดติดตั้งเซ็นเซอร์ตรวจจับเพื่อความปลอดภัยรอบตัวรถ จึงมั่นใจได้ว่ารถฟอร์คลิฟต์แบบไร้คนขับสามารถการจัดการสินค้าที่มีมูลค่าได้ และปลอดภัยต่อพนักงานภายในคลังสินค้า รวมทั้งยังช่วยป้องกันความเสียหายต่อตัวรถฟอร์คลิฟต์แบบไร้คนขับได้อีกเช่นกัน
OUTSTANDING SAFETY
“รถฟอร์คลิฟต์แบบไร้คนขับทำงานในระบบที่อนุญาติให้ผู้ปฏิบัติการสามารถควบคุมรถทุกคันในคลังสินค้าได้ ซึ่งช่วยขจัดความน่าเบื่อหน่ายจากการทำงานแบบซ้ำๆ ลดความเหนื่อยล้าจากการปฏิบัติงาน และลดอุบัติเหตุจากข้อผิดพลาดในการปฏิบัติงานของมนุษย์ (Human error) ได้” โดย Mr. Nauska กล่าวเสริมว่า
“ความปลอดภัยคือสิ่งสำคัญที่สุดของเรา
และรถฟอร์คลิฟต์แบบไร้คนขับของเรานั้น
ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงสิ่งนี้มาแล้วเป็นระยะเวลาหลายปี”
ทั้งนี้ คุณอรอุพินทุ์ ยังได้อธิบายเพิ่มเติมถึงประเด็นนี้ว่า “รถฟอร์คลิฟต์แบบไร้คนขับ มีเซ็นเซอร์ตรวจจับความปลอดภัย (Safety sensor) ติดตั้งทั้งในส่วนบริเวณด้านหน้า ด้านหลัง ด้านบน และด้านข้างของรถ นอกจากนี้รถของเรายังมีคุณสมบัติด้านความปลอดภัยอีกหลายอย่างที่ติดตั้งอยู่ในระบบซอฟท์แวร์ ลูกค้าจึงมั่นใจได้ในเรื่องความปลอดภัยและความแม่นยำในการขนส่งสินค้า”
ENERGY EFFICIENCY
ปัจจุบัน การจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นปัจจัยที่ลูกค้าให้ความสนใจมากขึ้น โตโยต้าจึงพัฒนาการใช้พลังงานของ Toyota Autopilot โดยนำแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน (Lithium-ion) ที่ผลิตขึ้นโดยโตโยต้า มาใช้งานกับรถฟอร์คลิฟต์แบบไร้คนขับ
“ในการใช้งานแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน ลูกค้าไม่จำเป็นต้องสร้างห้องชาร์จแบตเตอรี่และระบบระบายอากาศแยกต่างหาก อีกทั้งยังสามารถใช้งานระบบชาร์จอัตโนมัติได้อีกด้วย โดยรถ Toyota Autopilot นั้น สามารถใช้งานระบบชาร์จอัตโนมัติได้ทั้งหมดทุกรุ่น” Mr. Nauska อธิบายเสริมว่า “ในการชาร์จแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนจากระดับต่ำสุดถึงเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์นั้น ใช้ระยะเวลาเพียงแค่หนึ่งชั่วโมงเท่านั้น โดยสามารถใช้งานได้นานสูงสุดถึงแปดชั่วโมงเลยทีเดียว”
ทั้งนี้ โตโยต้า ยังนำเสนอวิธีการชาร์จแบตเตอรี่ที่หลากหลายเพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งานของลูกค้า โดยในระหว่างที่รถฟอร์คลิฟต์อัตโนมัติไม่มีภาระงาน รถจะเข้าไปยังสถานีชาร์จโดยอัตโนมัติจนกว่าจะมีคำสั่งเรียกให้ปฏิบัติงาน กระบวนการนี้เรียกว่า การชาร์จตามโอกาส (Opportunity Charging) นอกจากนี้ รถฟอร์คลิฟต์แบบไร้คนขับยังสามารถตั้งเวลาชาร์จให้เหมาะสมกับช่วงเวลาในการปฏิบัติงานได้ โดยเรียกการชาร์จเช่นนี้ว่า การชาร์จตามตารางเวลา (Scheduled Charging) ทั้งนี้เมื่อแบตเตอรี่ต่ำกว่าสามสิบเปอร์เซ็นต์ รถจะเดินทางไปยังสถานีชาร์จโดยอัตโนมัติ เพื่อป้องกันปัญหาแบตเตอรี่หมดระหว่างการทำงาน โดยขั้นตอนทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้การจัดของระบบซอฟต์แวร์ T-One ของโตโยต้า
IT’S ALL IN THE SOFTWARE
Toyota Autopilots ถูกควบคุมด้วยชุดซอฟท์แวร์ปฏิบัติการ T-ONE ของโตโยต้า ซึ่งเชื่อมโยงกับระบบจัดการคลังสินค้า (WMS) และประสานการทำงานร่วมกับระบบอัตโนมัติอื่นๆ โดย T-ONE มีอินเทอร์เฟซผู้ใช้ (User Interface) ที่อำนวยความสะดวกให้ลูกค้าในการติดตามประสิทธิผลของการทำงาน และดัชนีชี้วัดต่างๆ เพื่อใช้สำหรับการวัดผล KPI ผ่านระบบ T-ONE
T-ONE ยังสามารถควบคุมระบบจราจรและแสดงผลเส้นทางการเดินรถบนหน้าจอตามการปฏิบัติงานที่เกิดขึ้นจริงได้ โดยระบบจะจัดการเส้นทางการเดินรถให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อให้มั่นใจว่าสินค้าจะถูกขนส่งไปยังเป้าหมายที่ถูกต้องและตรงเวลาตามที่ลูกค้าต้องการ
โดยระบบจะจัดการเส้นทางการเดินรถให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อให้มั่นใจว่าสินค้าจะถูกขนส่งไปยังเป้าหมายที่ถูกต้องและตรงเวลาตามที่ลูกค้าต้องการ อนึ่ง ขั้นตอนทั้งหมดนี้เกิดจากการปรับใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ของระบบ T-ONE ซึ่งสามารถทำงานร่วมกันเครื่องสแกนบาร์โค้ด เครื่องอ่าน RFID หรือแท็บเล็ต เพื่อให้ลูกค้าสามารถติดตามผลการปฏิบัติงานได้ตลอดเวลา
THE BEST SOLUTION
เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการทำงานของรถฟอร์คลิฟต์แบบไร้คนขับ ผู้ประกอบการจึงควรคำนึงถึงรูปแบบธุรกิจของตนว่าเหมาะสมหรือไม่ ทั้งนี้ การตัดสินใจลงทุนให้รอบคอบและคุ้มค่าที่สุด จะง่ายยิ่งขึ้นหากมีผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาและตรวจสอบสถานที่ปฏิบัติงานจริง “เมื่อลูกค้ามีความสนใจรถฟอร์คลิฟต์อัตโนมัติของเรา สิ่งแรกที่เราทำคือการช่วยลูกค้าหาโซลูชั่นที่สามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้อย่างเหมาะสมที่สุด” Mr. Nauska กล่าว “พวกเราจะไปสำรวจสถานที่หน้างานจริงร่วมกับลูกค้าและวางแผนร่วมกันเพื่อพัฒนาแนวทางที่ดีที่สุดและเหมาะสมที่สุดในการทำงาน เพื่อช่วยให้ลูกค้าสามารถเปลี่ยนถ่ายจากระบบการทำงานแบบคนขับ สู่ระบบการทำงานไร้คนขับได้ในที่สุด”
นอกจากนี้ การบริการหลังการขาย ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ผู้ประกอบการควรคำนึงถึง เพื่อให้การลงทุนนั้นเป็นไปอย่างคุ้มค่าและสามารถเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่ธุรกิจได้อย่างแท้จริง “เรามีทีมงานชาวไทยผู้เชี่ยวชาญในส่วนของรถ Autopilot ประจำอยู่ที่สำนักงานในกรุงเทพฯ ประเทศไทย ซึ่งเป็นศูนย์กลาง (Hub) ของกลุ่มลูกค้า ในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมกันนี้ยังมีบริษัท บีที มิตรแลนด์ จำกัด ดูแลในส่วนงานบริการและศูนย์จัดจำหน่ายในประเทศไทย ที่พร้อมเข้าไปแก้ไขปัญหาของลูกค้าได้อย่างรวดเร็วและครอบคลุมทั่วประเทศ ยิ่งไปกว่านั้นเรายังมีตัวแทนจำหน่ายท้องถิ่นตั้งอยู่ในทุกประเทศทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่พร้อมบริการดูแลและติดตั้งรถ Autopilot ของเราอีกด้วย” คุณอรอุพินทุ์กล่าว
ด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นอย่างมากมายและหลากหลายรูปแบบ เช่น รถ Autopilot ซึ่งทำงานสอดประสานกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์นั้น ถือเป็นสิ่งใหม่สำหรับอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ปัจจุบัน การปรับตัวและเปิดรับกับสิ่งใหม่ก็เป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาธุรกิจเช่นกัน อย่างไรก็ตามสิ่งที่ผู้ประกอบการควรคำนึงถึงมากที่สุดคือ การพิจารณาถึงประโยชน์สูงสุดที่ผู้ประกอบการจะได้รับ ความคุ้มค่าของเม็ดเงินลงทุน และความมั่นคงในการดำเนิงานธุรกิจ ซึ่งหากท่านมีผู้เชี่ยวชาญร่วมทางในการตัดสินใจไปด้วยแล้ว เทคโนโลยีเหล่านี้ก็สามารถตอบโจทย์ความต้องการและเป็นโซลูชั่นที่ช่วยแก้ไขปัญหาให้กับธุรกิจแต่ละประเภทได้อย่างตรงจุดมากที่สุดอย่างแน่นอน
อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Logistics Mananger เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Logistics Manager หรือคลิกที่นี่