ท่าเทียบเรือชุด D เสริมทัพเทคโนโลยีอัตโนมัติยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน ท่ามกลางแนวโน้มการฟื้นตัวของตลาดการค้าทั่วโลก

0
2128
Hutchison Ports Thailand ท่าเรือแหลมฉบัง

จดหมายเปิดผนึก จากกรรมการผู้จัดการ Hutchison Ports ประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้


ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ Hutchison Ports ดำเนินธุรกิจท่าเทียบเรือขนส่งตู้สินค้า ในท่าเรือแหลมฉบัง ประเทศไทย ท่าเรือ Thilawa เมียนมาร์ และท่าเรือ Tanjung Priok ในเมือง Jakarta อินโดนีเซีย พร้อมกันนี้ เรายังให้ความสนใจในการดำเนินธุรกิจ ท่าเทียบเรือขนส่งตู้สินค้าที่ WestPorts ภายใน Port Klang ประเทศมาเลเซีย และท่าเทียบเรือขนส่งสินค้าทั่วไป ที่ Cai Mep-Thi Vai ในเวียดนามอีกด้วย

ท่าเทียบเรือ Westports มาเลเซีย

ในช่วงต้นของวิกฤตการแพร่ระบาดของ COVID-19 ปริมาณการบริโภคสินค้าทั่วโลกหดตัวลงอย่างเห็นได้ชัด ยกเว้น ท่าเรือ Cai Mep-Thi Vai ที่มีปริมาณตู้สินค้าเพิ่มขึ้น 18 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับปริมาณตู้สินค้าในปี 2019 ส่วนท่าเทียบเรืออื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เราดำเนินธุรกิจอยู่ ล้วนแล้วแต่มีปริมาณตู้สินค้าลดลง เมื่อเทียบกันแบบปีต่อปีในสัดส่วนที่แตกต่างกันออกไป ยกตัวอย่างเช่น ปริมาณตู้สินค้าที่ท่าเทียบเรือของเราในท่าเรือแหลมฉบัง ลดลง 5 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ท่าเทียบเรือ ที่ Tanjung Priok มีปริมาณตู้สินค้าลดลงถึง 11 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับปริมาณตู้สินค้าในปี 2019

อย่างไรก็ตาม ปี 2021 กลับมาพร้อมสภาพการณ์ที่เหนือความคาดหมาย เมื่อท่าเทียบเรือส่วนใหญ่ของ Hutchison Ports ในภูมิภาคมีปริมาณตู้สินค้าผ่านท่าดีดตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว สืบเนื่องมาจากปริมาณการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวขึ้น อันเป็นผลพวงของความต้องการบริโภคในภูมิภาคอเมริกาเหนือและยุโรป ซึ่งหันมาใช้เงินจับจ่ายซื้อสินค้าแทนการท่องเที่ยว เนื่องจากข้อจำกัดด้านการออกจากเคหะสถาน

ท่าเเทียบรือ Jakarta International Container Terminal (JICT) ท่าเรือ Port of Tanjung Priok อินโดนีเซีย

ยกตัวอย่างเช่น ที่ท่าเทียบเรือ Hutchison Ports Thailand ท่าเรือแหลมฉบัง เราเห็นปริมาณการขนส่งสินค้าในเส้นทางระหว่างเอเซีย – ยุโรปและอเมริกา และเส้นทาง Intra-Asia ที่กำลังขยายตัวเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ดี กระแสปริมาณสินค้าที่ดีดตัวขึ้นอย่างกะทันหัน ก็ส่งผลให้เกิดปัญหาในการวางแผนและปฏิบัติงาน และมีผลกระทบเป็นโดมิโน่ เช่น ผลกระทบจากปัญหาเรือเข้าเทียบท่าล่าช้าจากกำหนด และต้องการเข้าเทียบท่าภายในวันเดียวกัน  

ท่าเทียบเรือ Myanmar International Terminal Thilawa (MITT.)

ขณะที่ท่าเทียบเรืออื่นๆ มีปริมาณสินค้าเพิ่มมากขึ้น แต่ท่าเทียบเรือของเราในเมียนมาร์ กลับพลาดโอกาสเนื่องจากวิกฤตการเมืองภายในของเมียนมาร์ ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมีนัยยะสำคัญต่อกระแสการค้าทั้งขาเข้าและขาออกจากประเทศ และ แม้ว่าเรายังให้เปิดให้บริการตามปกติ แต่สายการเดินเรือหลายแห่งต่างก็ลดปริมาณการเข้าเทียบท่าในเมียนมาร์ เนื่องจากปริมาณสินค้าที่ลดลง  

Mr. Stephen Ashworth, กรรมการผู้จัดการ Hutchison Ports ประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ในขณะที่อุบัติเหตุเรือขนาดใหญ่ขวางคลองสุเอซ ที่ผ่านมา ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจท่าเทียบเรือในภูมิภาคของเราอย่างมีนัยยะ หากแต่เมื่อพิเคราะห์ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 การหยุดชะงักของกระแสการค้า และกลยุทธ์ของสายการเดินเรือในการนำเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ขึ้นมาให้บริการ ก็จะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนว่า การปรับใช้เทคโนโลยีล้ำสมัยเข้ากับทำงานของท่าเทียบเรือของเรา สามารถช่วยผลักดันประสิทธิภาพการทำงาน รวมทั้งช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดเหตุที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ 

ก่อนหน้าวิกฤตการณ์เช่นในปัจจุบัน ท่าเทียบเรือ D ของ Hutchison Ports Thailand ซึ่งเป็นหนึ่งในท่าเทียบเรือหลักของกลุ่มบริษัท Hutchison Ports Group เป็นท่าเทียบเรือที่เปิดรับ และปรับใช้เทคโนโลยีล้ำสมัย ด้วยวิสัยทัศน์ก้าวหน้าสู่อนาคตอยู่แล้ว

เนื่องจาก ท่าเทียบเรือ D ได้รับการวางแผนและก่อสร้างขึ้นบนโครงสร้างพื้นฐานที่มุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ฝ่ายพัฒนาปฏิบัติการและทีม IT ของเราจึงสามารถวางแผนและออกแบบการทำงานของท่าเทียบเรือฯ โดยมีรากฐานบนเทคโนโลยีล้ำสมัยที่ปฏิบัติการเพื่อความยั่งยืนตั้งแต่ต้น นอกจากนี้ การออกแบบพื้นที่หน้าท่าเทียบเรือ กอปรกับปั้นจั่นยกตู้สินค้าขนาด Super Post Panamax ที่ทำงานด้วยการควบคุมจากระยะไกล ก็อำนวยให้เราสามารถรองรับเรือขนส่งตู้สินค้าขนาดใหญ่ที่สุดที่ปฏิบัติการอยู่ในปัจจุบันได้

ท่าเทียบเรือ D ของ Hutchison Ports Thailand

เมื่อเทคโนโลยีดังกล่าว ผนวกเข้ากับเทคโนโลยีเสริมประสิทธิภาพในการทำงานอื่นๆ ในอนาคตอันใกล้นี้ เราวางหมุดหมายว่าประสิทธิภาพการทำงาน ความปลอดภัย และความแม่นยำในกระบวนการปฏิบัติงานของท่าเทียบเรือ D จะเพิ่มพูนขึ้นไปพร้อมกับศักยภาพของท่าเทียบเรือฯ ที่จะได้รับการพัฒนาจนเต็มประสิทธิภาพ ซึ่งจะสามารถรองรับตู้สินค้าได้มากกว่า 3.5 ล้านทีอียู  

เจ้าหน้าที่ของ Hutchison Ports Thailand ขณะปฏิบัติงานปั้นจั่นยกตู้สินค้า ระบบควบคุมจากระยะไกล

โดยหนึ่งในเทคโนโลยีเสริมประสิทธิภาพปฏิบัติการที่เราเปิดรับ เพื่อปรับใช้กับท่าเทียบเรือ D คือเทคโนโลยีรถหัวลากตู้สินค้าอัตโนมัติรุ่นล่าสุด หลายท่านได้สอบถามผมเกี่ยวกับความคืบหน้าของโครงการทดสอบรถหัวลากตู้สินค้าอัตโนมัติจำนวนหกคัน ซึ่งได้รับการส่งมอบที่ท่าเทียบเรือ D เมื่อปีที่ผ่านมา รถหัวลากตู้สินค้าพลังงานไฟฟ้าเหล่านี้ มีการติดตั้งระบบปฏิบัติการอัจฉริยะ พร้อมกับเซ็นเซอร์ LiDAR และกล้องความชัดสูง สำหรับตรวจจับวัตถุแวดล้อม และหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุขณะปฏิบัติการ

อีกทั้ง ระบบ GPS ยังช่วยให้รถหัวลากตู้สินค้าระบุตำแหน่งของเส้นทางและจุดหมายอย่างแม่นยำ เมื่อทำงานร่วมกับระบบประมวลผลแบบปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งผนวกเข้ากับระบบปฏิบัติการ ‘nGen’ ของท่าเทียบเรือฯ รถหัวลากตู้สินค้าอัตโนมัติเหล่านี้ สามารถวางแผนเส้นทางสู่จุดหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ ท่าเทียบเรือ D ยังได้มีการติดตั้งป้ายจราจร และแยกช่องจราจรอย่างชัดเจนสำหรับรถหัวลากตู้สินค้าทั่วไป และรถหัวลากตู้สินค้าอัตโนมัติ ซึ่งต้องปฏิบัติการภายใต้กฎการจราจรเดียวกัน

รถหัวลากตู้สินค้าอัตโนมัติ ขณะปฏิบัติงาน ณ ท่าเรือ D

ขณะนี้ ผลลัพธ์ของโครงการทดสอบฯ มีแนวโน้มในทิศทางที่ดี นับตั้งแต่เริ่มต้นทดสอบจนถึงปัจจุบัน ฝูงรถหัวลากตู้สินค้าอัตโนมัติทั้งหกคันมีส่วนร่วมในการยกขนตู้สินค้าไปแล้วประมาณ 12,000 ตู้  และมีความเป็นไปได้ที่เราอาจพิจารณาสั่งซื้อรถหัวลากตู้สินค้าอัตโนมัติเพิ่มเติม เพื่อนำมาทำงานควบคู่ไปกับกองรถหัวลากตู้สินค้าทั่วไป ณ ท่าเทียบเรือ D ซึ่งผมจะคอยรายงานให้ทุกท่านได้ทราบถึงความคืบหน้าของโครงการพิเศษนี้ต่อไป

นับจากนี้ ผมมั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่าธุรกิจท่าเทียบเรือและการขนส่งตู้สินค้าของเรามีแนวโน้มที่จะกลับมาสดใส แน่นอนว่าการเปลี่ยนผ่านวิธีการดำเนินงานสู่แพลตฟอร์มดิจิทัล และการปรับใช้เทคโนโลยีอัตโนมัติ เป็นแนวทางของการปรับตัวเข้ากับความท้าทายที่มาในรูปของการพัฒนาอย่างยั่งยืน ปริมาณสินค้าที่เพิ่มขึ้น การเพิ่มพูนประสิทธิภาพการปฏิบัติการ การใช้เรือขนส่งตู้สินค้าขนาดใหญ่ขึ้น รวมไปถึงเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดอย่างเช่นวิกฤตโรคระบาดในขณะนี้  ผู้ประกอบการท่าเทียบเรือก็จำเป็นต้องพิจารณาสร้างสมดุลระหว่างความต้องการลงทุนในเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย และการสร้างผลกำไรโดยรวมจากการลงทุน


Stephen Ashworth กรรมการผู้จัดการ Hutchison Ports ประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Logistics Mananger เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Logistics Manager หรือคลิกที่นี่

บทความก่อนหน้านี้Hapag-Lloyd ปฏิบัติการเรือขนส่งตู้สินค้าพลังงาน LNG ขนาดใหญ่เข้าเทียบท่าเรือ Hamburg
บทความถัดไปCMA CGM Group เปิดแคมเปญสื่อสารภาพลักษณ์องค์กรใหม่ ภายใต้นิยาม ‘BETTER WAYS’