DHL จับมือ Scania ทดสอบรถบรรทุก EV ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ขยายระยะทางการปฏิบัติการ

0
143

เมื่อเร็วๆ นี้ กลุ่มบริษัท DHL Group และ Scania บริษัทผลิตรถบรรทุกขนาดใหญ่ ได้ร่วมกันพัฒนารถบรรทุกพลังงานไฟฟ้าซึ่งติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่ใช้แหล่งพลังงานจากเชื้อเพลิง เดินหน้ากระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่การขนส่งทางบกด้วยพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่โดยไม่ต้องรอให้เครือข่ายสถานีชาร์จไฟฟ้าเสร็จสมบูรณ์

ยานพาหนะพลังงานไฟฟ้าเต็มรูปแบบถือเป็นโซลูชันที่ดีที่สุดในระบบขนส่งอย่างยั่งยืน และอุตสาหกรรมการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์จำเป็นจะต้องเร่งดำเนินการ อย่างไรก็ตาม การดำเนินการเปลี่ยนแปลงสู่ยานยนต์พลังงานไฟฟ้าในปัจจุบันยังคงประสบกับอุปสรรคหลายประการ อาทิ การขาดแคลนจุดชาร์จพลังงานไฟฟ้า ต้นทุนการจัดการสถานีชาร์จไฟฟ้าให้เพียงพอในช่วงที่มีความต้องการขนส่งสินค้าสูง รวมถึงความท้าทายเกี่ยวกับกำลังไฟและต้นทุนพลังงานไฟฟ้าต่อหน่วยที่สูงขึ้นในช่วงฤดูหนาว ด้วยเหตุนี้ รถบรรทุกพลังงานไฟฟ้าที่สามารถปฏิบัติการในระยะทางที่ไกลยิ่งขึ้นหรือ Extended Range Electric Vehicle: EREV ของ DHL และ Scania จึงได้รับการพัฒนาขึ้น โดยยานยนต์เหล่านี้จะเข้ามามีส่วนสำคัญในการรับมือกับอุปสรรคเหล่านี้และยังช่วยให้ DHL สามารถปฏิบัติการรถบรรทุกโดยใช้พลังงานไฟฟ้าได้ถึง 80-90 เปอร์เซ็นต์

โดยแผนก Post & Parcel Germany ได้นำรถบรรทุกพลังงานไฟฟ้าชุดใหม่ไปใช้ในการปฏิบัติการในเดือนกุมภาพันธ์นี้สำหรับการขนส่งพัสดุระหว่าง Berlin และ Hamburg ประเทศเยอรมนี เพื่อทดสอบสมรรถนะการปฏิบัติการประจำวัน ก่อนที่จะนำไปปฏิบัติการร่วมกับกองรถบรรทุกของ DHL

สำหรับรถบรรทุก EREV ชุดใหม่นี้ได้มีการเปลี่ยนแบตเตอรี่ไฟฟ้าหนึ่งชิ้นบนรถบรรทุกไฟฟ้า 100 เปอร์เซ็นต์ เป็นเครื่องกำเนิดไฟฟ้าซึ่งใช้พลังงานเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อชาร์จพลังงานให้แก่แบตเตอรี่ชิ้นที่เหลือ เพื่อทำให้รถบรรทุกพลังงานไฟฟ้าสามารถปฏิบัติการได้ไกลถึง 650-800 กิโลเมตรเมื่อเทียบกับรถบรรทุกพลังงานไฟฟ้าเต็มรูปแบบรุ่นที่ทันสมัยที่สุดของ Scania รวมถึงรถบรรทุกพลังงานไฟฟ้าเต็มรูปแบบชั้นนำของอุตสาหกรรมฯ (อ้างอิงจากผลการทดสอบใน Berlin) อีกทั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าดังกล่าวยังสามารถเติมเชื้อเพลิงเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าให้กับแบตเตอรี่ได้ที่ปั๊มน้ำมันทุกแห่งเมื่อจำเป็น

Mr. Tobias Meyer ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท DHL Group กล่าวว่า “ณ ปัจจุบัน การเปลี่ยนไปใช้พลังงานไฟฟ้าซึ่งเป็นพลังงานหมุนเวียนอย่างเต็มรูปแบบยังคงต้องใช้เวลาสักระยะ จนกว่าโครงสร้างพื้นฐานอย่างสถานีชาร์จพลังงานและระบบไฟฟ้าจะสามารถรองรับและครอบคลุมสำหรับการปฏิบัติการรถบรรทุกพลังงานไฟฟ้าได้อย่างไร้รอยต่อ โดยเฉพาะระบบการขนส่งขนาดใหญ่อย่างเครือข่ายการขนส่งพัสดุของ DHL ในเยอรมนี เราจึงมองว่าโซลูชันดังกล่าวสามารถตอบโจทย์และใช้งานได้จริง เพื่อผลักดันให้การปฏิบัติการโลจิสติกส์มีความยั่งยืนมากขึ้นและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยลงในการขนส่งสินค้าในระยะสั้น”

Mr. Christian Levin ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท Scania กล่าวว่า “ยานพาหนะที่เราร่วมพัฒนากับ DHL เป็นตัวอย่างของโซลูชันที่ถูกนำมาใช้โดยชั่วคราวที่สามารถยกระดับการขนส่งในสเกลใหญ่ซึ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ ก่อนที่ระบบการขนส่งจะถูกพัฒนาให้เป็นพลังงานไฟฟ้าอย่างเต็มรูปแบบ”

ทั้งนี้ รถ EREV เป็นรถบรรทุกขนาดความยาว 10.5 เมตร รองรับน้ำหนักได้สูงสุด 40 ตัน ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์พลังงานไฟฟ้า 230 กิโลวัตต์ (สูงสุด 295 กิโลวัตต์) โดยพลังงานขับเคลื่อนมาจากแบตเตอรี่ความจุ 416 kWh และเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานเบนซินขนาด 120 kW ซึ่งการติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าบนรถบรรทุก จะช่วยให้การปฏิบัติการรถบรรทุกเพิ่มขึ้นได้สูงสุดถึง 800 กิโลเมตร


อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Logistics Mananger เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Logistics Manager หรือคลิกที่นี่

บทความก่อนหน้านี้ท่าเรือประจวบ จัดงาน Town Hall 2025 ชูแผนธุรกิจ มุ่งสู่ Blue Port
บทความถัดไปTIPS มอบทุนประกอบอาชีพ 361,350 บาท แก่ผู้พิการ โครงการสนับสนุนทุนประกอบอาชีพผู้พิการ ตามมาตรา 35(7) ครั้งที่ 3 ประจำปี 2025