Yusen Logistics เดินหน้าเป้าหมายความยั่งยืน มุ่งลดคาร์บอนฟุตพรินท์ (carbon footprint) ผ่านการขยายกองรถบรรทุกพลังงานไฟฟ้า (EV) และก่อตั้งสถานีชาร์จพลังงานรถ EV ที่คลังสินค้า LLC3 จังหวัดชลบุรี พร้อมผลักดันวิสัยทัศน์ด้านสิ่งแวดล้อมของกลุ่มบริษัทฯ ภายใต้เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน 45 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2030 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050
LM มีโอกาสได้พูดคุยกับ Mr. Koichi Hirose รองประธาน และประธานผู้อำนวยการบริหารฝ่ายปฏิบัติการ, คุณสุวัจชัย เป้าประยูร ผู้อำนวยการบริหาร ฝ่ายการขนส่งและการจัดการซัพพลายเชน, และคุณพิมาน นวลหงษ์ ผู้อำนวยการบริหาร กลุ่มงานคลังสินค้า บริษัท Yusen Logistics (Thailand) เกี่ยวกับการนำรถบรรทุกพลังงานไฟฟ้ามาใช้ในการปฏิบัติการขนส่งสินค้า รวมถึงการเปิดสถานีชาร์จพลังงานรถ EV ซึ่งใช้พลังงานจากโซลาร์เซลล์บนหลังคาของคลังสินค้า LLC3 ใน จ.ชลบุรี
Strategic Vision for EV Adoption
เมื่อปี 2022 ที่ผ่านมา บริษัท Yusen Logistics ได้กำหนดแผนการลดอัตราการปล่อยคาร์บอนจากการดำเนินการของบริษัท (Scope 1) ถึง 45 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2030 เพื่อก่อฐานอันแข็งแกร่งสำหรับเป้าหมายในการลดอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 จนนำมาซึ่งการตัดสินใจลงทุนสั่งซื้อและปฏิบัติการรถบรรทุกพลังงานไฟฟ้า
Mr. Hirose อธิบายเกี่ยวกับที่มาของการลงทุนครั้งนี้ว่า “เราตัดสินใจลงทุนปฏิบัติการรถบรรทุก EV เนื่องจาก EV ถือเป็นทางเลือกที่มีประสิทธิภาพที่สุดในปัจจุบัน ในการก้าวสู่เป้าหมายในการลดคาร์บอนภายในระยะเวลาอันสั้นเมื่อเทียบกับโซลูชันอื่นๆ นอกจากนี้ เทรนด์ในอุตสาหกรรมฯ และความคาดหวังของลูกค้า ยังเป็นอีกปัจจัยหลักที่กระตุ้นให้เราหันมาให้ความสำคัญกับทางเลือกที่ส่งเสริมเป้าหมายด้านความยั่งยืนยิ่งขึ้น เนื่องจากปัจจุบันลูกค้าหลายรายมีความต้องการโซลูชันโลจิสติกส์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น Yusen Food Supply Chain ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง Yusen Logistics กับบริษัท Ajinomoto ได้มีการลงทุนให้บริการขนส่งและกระจายสินค้าด้วยรถบรรทุก EV ซึ่งถือเป็นโครงการริเริ่มที่ขับเคลื่อนแนวทางการปรับใช้รถบรรทุก EV ของเราได้เป็นอย่างดี”
นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนด้านราคาเชื้อเพลิงพลังงานในประเทศไทยที่มีความผันผวน ราคาน้ำมันที่มักจะผันแปรตามนโยบายของรัฐบาล ยังถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เทคโนโลยี EV ซึ่งใช้พลังงานสะอาด กลายเป็นทางเลือกที่น่าสนใจยิ่งขึ้นสำหรับการบริหารต้นทุนอีกด้วย
EV Fleet Deployment and Optimization
บริษัท Yusen Logistics (Thailand) วางแผนขยายกองรถบรรทุก EV เป็นทั้งหมด 10 คันภายในช่วงสิ้นปีงบประมาณ 2024 ซึ่งปัจจุบัน บริษัทฯ มีรถบรรทุก EV ในปฏิบัติการอยู่แล้วจำนวนห้าคัน ให้บริการขนส่งสินค้าในอุตสาหกรรมเคมีและยานยนต์เป็นหลัก โดยการปรับใช้รถบรรทุก EV ในระยะแรกเป็นการทดสอบประสิทธิภาพการปฏิบัติการ และศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้รถบรรทุก EV ในการปฏิบัติการโลจิสติกส์
โดยปัจจุบัน Yusen Food Supply Chain ในเครือของ Yusen Logistics (Thailand) ปฏิบัติการขนส่งสินค้าระหว่างโรงงานและศูนย์กระจายสินค้าของ Ajinomoto บนเส้นทางการขนส่งที่กำหนดไว้ พร้อมจัดตารางการชาร์จพลังงานอย่างเหมาะสม เพื่อไม่ให้กระทบกับประสิทธิภาพการปฏิบัติการ และสามารถให้บริการได้ตามความคาดหวังของลูกค้า
คุณสุวัจชัย กล่าวว่า “การลงทุนปฏิบัติการรถบรรทุก EV เป็นการดำเนินการตามนโยบายของ Yusen Logistics Group ในการบรรลุเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 โดยภายในสิ้นปีงบประมาณนี้ เราวางแผนที่จะเพิ่มจำนวนรถบรรทุก EV อีกห้าคัน ซึ่งจะส่งผลให้ในปีนี้กองรถบรรทุก EV ในปฏิบัติการของเรามีจำนวนทั้งหมด 10 คัน ยิ่งไปกว่านั้น Yusen Logistics (Thailand) ยังตั้งเป้าที่จะเพิ่มจำนวนรถบรรทุก EV ตลอดสามปีข้างหน้าอีกปีละ 10 คัน รวมเป็นทั้งหมด 40 คัน”
Operational Challenges and Benefits
Yusen Logistics ได้แบ่งปันประสบการณ์ในการเปลี่ยนการปฏิบัติการขนส่งสินค้าโดยใช้รถบรรทุก EV ขนส่งสินค้า โดยระบุว่าการใช้รถบรรทุก EV ไม่ได้ส่งผลกระทบในแง่ของประสิทธิภาพการปฏิบัติการมากนัก บริษัทฯ ยังสามารถให้บริการได้โดยไม่หยุดชะงัก ขณะเดียวกันแม้ว่าต้นทุนค่าเชื้อเพลิงจะลดลง แต่ก็ยังมีประเด็นด้านค่าเสื่อมราคาที่บริษัทฯ ต้องให้ความสำคัญ อย่างไรก็ตาม การที่รถบรรทุก EV ต้องการการซ่อมบำรุงที่น้อยกว่าก็ถือเป็นข้อได้เปรียบเมื่อเทียบกับรถบรรทุกเครื่องยนต์ดีเซลโดยทั่วไป
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากรถบรรทุก EV ยังคงเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ยังไม่มีข้อมูลที่น่าเชื่อถือสำหรับการใช้งานในระยะยาว ทั้งในแง่ของมูลค่าและต้นทุนการจัดการรถและแบตเตอรี่หลังหมดอายุการใช้งาน แต่จากผลการทดสอบและการศึกษาของหลายภาคส่วนในภาพรวมยังคงเป็นไปในทิศทางที่ดี
แม้ว่าในแง่ของการปฏิบัติการขนส่งสินค้าด้วยรถบรรทุก EV จะยังไม่มีข้อได้เปรียบที่แน่ชัด แต่ Yusen Logistics กลับมองเห็นประโยชน์ทางอ้อมจากการใช้รถ EV ได้อย่างชัดเจน ทั้งในแง่ของผลตอบรับจากลูกค้า และการยกระดับความภาคภูมิใจในองค์กรของพนักงาน เนื่องจากผลการสำรวจภายในของบริษัทฯ พบว่าพนักงานมีแรงจูงใจในการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) มากขึ้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบในเชิงบวกของการปฏิบัติการรถบรรทุก EV ในแง่ของการมีส่วนร่วมของพนักงานและวัฒนธรรมองค์กร
“แม้ว่า ณ ตอนนี้เราจะยังไม่เห็นข้อได้เปรียบด้านต้นทุน ประสิทธิภาพ และขีดความสามารถในการปฏิบัติการจากการปรับใช้รถบรรทุก EV แต่เราเริ่มเห็นประโยชน์ทางอ้อมมากขึ้น นั่นคือบริษัทฯ ได้รับการกล่าวถึงในเชิงบวก ผลตอบที่ดีจากทั้งลูกค้าและอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ รวมถึงการสร้างแรงจูงใจในหมู่พนักงานของบริษัทฯ ยิ่งไปกว่านั้น การลงทุนในครั้งนี้ยังช่วยสนับสนุนเป้าหมาย ESG ของ Yusen Logistics ได้มากกว่าที่คิด” Mr. Hirose กล่าว
Overcoming Technical Constraints
อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจเลือกปฏิบัติการขนส่งสินค้าด้วยรถบรรทุก EV ในระยะเริ่มต้นย่อมมาพร้อมความท้าทาย โดยหนึ่งในอุปสรรคสำคัญของ Yusen Logistics คือข้อมูลที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับการใช้งานจริงและขีดความสามารถในการปฏิบัติการรถบรรทุก EV ดังนั้น บริษัทฯ จึงได้ทำการทดสอบและรวบรวมผลเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ระยะการวิ่งรถและระดับแบตเตอรี่ในการขนส่งสินค้าที่มีน้ำหนักแตกต่างกันบนสภาพถนนหลายรูปแบบ ซึ่งการดำเนินการทดสอบเหล่านี้ช่วยให้ Yusen Logistics สามารถปรับกลยุทธ์การปรับใช้รถบรรทุก EV รวมถึงการวางแผนเส้นทางและตารางปฏิบัติการ เพื่อให้การขนส่งเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
คุณสุวัจชัย กล่าวว่า “ในช่วงแรกที่เราเริ่มใช้รถ EV ความท้าทายหลักมักจะเกี่ยวกับเทคโนโลยีแบตเตอรี่ เนื่องจากการชาร์จพลังงานแต่ละครั้ง รถบรรทุกจะสามารถปฏิบัติการได้ราว 200-300 กม. ขึ้นอยู่กับน้ำหนักสินค้า สภาพถนน และสภาพการจราจร ดังนั้น เราต้องกลับมาพิจารณาว่าเราจะเพิ่มประสิทธิภาพในการวิ่งรถแต่ละรอบให้มากที่สุดได้อย่างไร เพราะบางครั้งรถบรรทุก EV สามารถทำรอบได้เพียงหนึ่งรอบครึ่ง แทนที่จะเป็นสองรอบ เนื่องจากรถ EV ต้องมีการหยุดเพื่อชาร์จพลังงานด้วย”
“โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับรถบรรทุกทั่วไปที่สามารถปฏิบัติการได้มากกว่า 500 กม. ต่อวัน (ขึ้นกับชนิดรถบรรทุก) ดังนั้น เราจึงต้องมีการปรับแผนปฏิบัติการให้สอดรับกับข้อจำกัดเหล่านี้ เช่น การกำหนดเส้นทางและจัดตารางชาร์จพลังงานให้เหมาะสม ซึ่งถือเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากปัจจุบันสถานีชาร์จที่เราใช้ยังมีจำกัด ค่าชาร์จต่อครั้งที่สถานีภายนอกยังคงแพง และในบางเส้นทางไม่มีสถานีชาร์จให้บริการ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่กำหนดให้เส้นทางบริการด้วยรถบรรทุก EV ของเรายังคงจำกัด”
Innovative Charging Infrastructure
ด้วยเหตุนี้ Yusen Logistics จึงได้ริเริ่มก่อสร้างสถานีชาร์จพลังงานรถบรรทุก EV ขึ้นที่คลังสินค้า LLC3 ของบริษัทฯ ที่ จ. ชลบุรี ใกล้ท่าเรือแหลมฉบัง โดยข้อได้เปรียบด้านที่ตั้งเชิงกลยุทธ์สามารถเพิ่มความสะดวกสบายให้กับการชาร์จพลังงานของกองรถบรรทุก EV ของ Yusen Logistics พร้อมช่วยลดต้นทุนและลดการพึ่งพาสถานีชาร์จสาธารณะ ซึ่งมีต้นทุนสูงกว่าและให้ความสะดวกน้อยกว่า ยิ่งไปกว่านั้น การตั้งสถานีชาร์จที่คลังสินค้า LLC3 ยังสามารถช่วยให้บริษัทฯ ใช้ประโยชน์จากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ได้จากแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาของคลังสินค้า เพื่อนำมาชาร์จพลังงานให้กับรถบรรทุก EV ซึ่งมีส่วนสำคัญในการลดต้นทุนพลังงานและลดอัตราการปล่อยมลพิษที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยได้อย่างมีนัยสำคัญ
โดยสถานีชาร์จพลังงานแห่งใหม่ของ Yusen Logistics สามารถชาร์จรถบรรทุก EV ได้พร้อมกันถึงสองคัน นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีแผนเพิ่มจำนวนสถานีชาร์จขึ้นอีกเพื่อตอบรับกับแผนการขยายกองรถบรรทุก EV ในอนาคต
คุณพิมาน กล่าวว่า “แม้ว่าการปฏิบัติการรถบรรทุก EV จะฟังดูเป็นทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังคงมีประเด็นที่น่ากังวลคือสถานีชาร์จพลังงานในไทยส่วนใหญ่ยังพึ่งพากระแสไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานไฟฟ้าหลักของประเทศ (national grid) ซึ่งไม่ได้เป็นพลังงานสะอาด 100 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากกระบวนการผลิตไฟฟ้าในบ้านเรายังคงใช้ถ่านหิน ก๊าซ หรือแหล่งพลังงานสิ้นเปลืองอื่นๆ (non-renewable) จึงส่งผลให้อัตราการปล่อยมลพิษจากการใช้รถ EV ตลอดวงจรไม่ได้สะอาดทั้งหมด ดังนั้น แม้ว่าเราจะลงทุนปฏิบัติการรถบรรทุก EV แต่เราก็สามารถเคลมอัตราการปล่อยคาร์บอนได้เพียง 30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น”
“เงื่อนไขเหล่านี้ถือเป็นหนึ่งในความท้าทายของ Yusen Logistics (Thailand) ในด้านความมุ่งมั่นลดอัตราการปล่อยคาร์บอนให้น้อยลง นั่นจึงเป็นที่มาของการก่อตั้งสถานีชาร์จรถบรรทุก EV โดยใช้พลังงานที่ผลิตจากแสงอาทิตย์ผ่านแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาคลังสินค้า LLC3 ซึ่งจะทำให้กองรถบรรทุก EV สามารถชาร์จพลังงานจากแสงอาทิตย์ได้โดยตรงในช่วงกลางวัน”
คุณพิมาน กล่าวต่อว่า “โครงการริเริ่มนี้สามารถช่วยลดอัตราการปล่อยมลพิษตลอดวงจรได้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงกลางวันที่เราสามารถชาร์จรถบรรทุกโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานสะอาดได้โดยตรง แม้ว่าในช่วงกลางคืนเรายังคงต้องพึ่งพาไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหลัก แต่ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีและเรากำลังวางแผนที่จะเพิ่มสถานีชาร์จในคลังสินค้าอื่นๆ ของเราอีกในอนาคต ควบคู่ไปกับการศึกษาแนวทางการใช้แบตเตอรี่จัดเก็บพลังงานที่ผลิตจากโซลาร์เซลล์เพื่อนำมาใช้ในการชาร์จพลังงานในช่วงกลางคืนด้วย”
Broader Impact and Future Outlook
โครงการปฏิบัติการรถบรรทุก EV และการก่อตั้งสถานีชาร์จพลังงานของ Yusen Logistics ถือเป็นก้าวสำคัญของอุตสาหกรรมโลจิสติสก์ไทยในการเดินหน้าสู่แนวทางความยั่งยืน เนื่องจากปัจจุบันกระแสการใช้เทคโนโลยีสีเขียวและแหล่งพลังงานทางเลือกกำลังได้รับความสนใจจากทั่วทั้งอุตสาหกรรมฯ จนทำให้บริษัทฯ ได้เดินหน้าวางกลยุทธ์การดำเนินการ พร้อมได้รับการยอมรับในวงกว้างในฐานะผู้นำด้านโซลูชันโลจิสติกส์ที่ยั่งยืนและทันสมัย โดย Yusen Logistics คาดว่าการตัดสินใจลงทุนปรับใช้งานรถบรรทุก EV จะสามารถสร้างแรงกระตุ้นให้บริษัทผู้ให้บริการอื่นๆ ในประเทศไทยหันมาพิจารณาแนวทางดังกล่าวนี้ เพื่อสร้างแรงกระเพื่อมให้ทั่วทั้งอุตสาหกรรมฯ ได้ร่วมกันดำเนินการตามแนวทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม บริษัท Yusen Logistics ยังคงคำนึงถึงผลกระทบของเทคโนโลยี EV ต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว โดยได้ดำเนินการศึกษาอย่างใกล้ชิดและรอบคอบเกี่ยวกับการกำจัดแบตเตอรี่รถ EV ที่หมดอายุการใช้งาน รวมถึงความเป็นไปได้ในการรีไซเคิล ตลอดจนต้นทุนการจัดการรถบรรทุก EV ที่จะปลดระวางในอนาคต ทั้งนี้ แม้ว่าประเด็นเหล่านี้จะยังจำเป็นต้องมีการติดตามและศึกษาต่อไป แต่การเลือกใช้รถบรรทุก EV ยังถือเป็นโซลูชันที่สามารถใช้งานได้จริงและมีประสิทธิภาพมากที่สุดสำหรับการลดอัตราการปล่อยคาร์บอนในปัจจุบัน
ไม่เพียงเท่านี้ บริษัท Yusen Logistics ยังมุ่งมั่นวางแผนเดินหน้าศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้งานทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอื่นๆ อาทิ การใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ รถบรรทุกพลังงานไฮโดรเจน และเทคโนโลยีอื่นๆ ที่จะมีการพัฒนาขึ้นในอนาคต โดยความมุ่งมั่นเหล่านี้ล้วนสอดคล้องกับเป้าหมายของกลุ่มบริษัท Yusen Logistics ในการลดอัตราการปล่อยคาร์บอน 45 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2030 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 ผ่านกลยุทธ์การปรับใช้รถบรรทุก EV และเทคโนโลยีอื่นๆ ให้สอดคล้องกับแนวทางของตลาดที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ นโยบายของภาครัฐ และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี
ทั้งนี้ การปรับใช้กองรถบรรทุก EV ในการปฏิบัติการขนส่งสินค้าและการลงทุนก่อตั้งสถานีชาร์จพลังงานของ Yusen Logistics ถือเป็นหลักชัยสำคัญสำหรับความมุ่งมั่นด้านโลจิสติกส์ที่ยั่งยืนของบริษัทฯ โดยการเดินหน้ารับมือกับทั้งโอกาสและความท้าทายของเทคโนโลยี EV ในครั้งนี้ได้ตอกย้ำความเป็นบริษัทที่มีแนวคิดก้าวหน้าของ Yusen Logistics ในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ไทยและในระดับโลกได้เป็นอย่างดี ทั้งยังเป็นแบบอย่างให้ทุกคนเห็นว่าธุรกิจจะสามารถดำเนินการเพื่อสร้างอนาคตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและยั่งยืนยิ่งขึ้นได้อย่างไรบ้าง
อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Logistics Mananger เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Logistics Manager หรือคลิกที่นี่