TNSC แถลงข่าวสถานการณ์ส่งออกเดือนตุลาคม 2024

0
56

เมื่อวันที่ 3 ธันวาคมที่ผ่านมา สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (TNSC) นำโดย ดร. ชัยชาญ เจริญสุข ประธาน TNSC และคุณสุภาพ สุวรรณพิมลกุล รองประธาน TNSC ได้จัดงานแถลงข่าวสถานการณ์ส่งออกของไทยประจำเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

โดยข้อมูลจากสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทยระบุว่า สถานการณ์การค้าระหว่างประเทศของไทยเดือนตุลาคม ปี 2024 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) พบว่า การส่งออกมีมูลค่า 27,222.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 14.6 เปอร์เซ็นต์ และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 896,735 ล้านบาท ขยายตัว 5.8 เปอร์เซ็นต์ (เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในเดือนตุลาคมขยายตัว 10.7 เปอร์เซ็นต์) ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 28,016.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 15.9 เปอร์เซ็นต์ และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 934,700 ล้านบาท ขยายตัว 7.1 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนตุลาคม ปี 2024 ขาดดุลเท่ากับ 794.4 ล้านเหรียญสหรัฐ และขาดดุลในรูปของเงินบาท 37,965 ล้านบาท

สำหรับภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือนมกราคม-ตุลาคม ปี 2024 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) พบว่า ไทยส่งออกรวมมูลค่า 250,398 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 4.9 เปอร์เซ็นต์ และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 8.854,630 ล้านบาท ขยายตัว 8.3 เปอร์เซ็นต์ (เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในช่วงมกราคม-ตุลาคม ขยายตัว 4.8 เปอร์เซ็นต์) ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 257,149.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 6.6 เปอร์เซ็นต์ และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 9,199,289 ล้านบาท ขยายตัว 9.9 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนมกราคม-ตุลาคม ปี 2024 ขาดดุลเท่ากับ 6,751.2 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 344,659 ล้านบาท

อนึ่ง สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทยปรับการคาดการณ์ว่าการส่งออกปี 2024 จะเติบโต 4 เปอร์เซ็นต์ และประมาณการณ์ว่าการส่งออกปี 2025 จะเติบโต 1-3 เปอร์เซ็นต์ (ณ เดือนธันวาคม ปี 2024) โดยมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ 1) ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ได้แก่ ความกังวลเกี่ยวกับนโยบายกีดกันทางการค้าและนโยบายอื่นของสหรัฐอเมริกากับประเทศคู่ค้าที่เกินดุลการค้า และสถานการณ์สงครามในภูมิภาคตะวันออกกลางและสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อ 2) ดัชนีการจัดซื้อภาคการผลิต (Manufacturing PMI) ที่ยังคงชะลอตัวในตลาดสำคัญ แม้จะมีอุปสงค์ระยะสั้นในการนำเข้าในช่วงเทศกาลสำคัญและวัฏจักรขาขึ้นของกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ 3) ค่าเงินบาทที่ยังคงมีความผันผวนจากความไม่แน่นอนของทิศทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผลจากปัจจัยเงินเฟ้อและนโยบายการค้าของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา 4) สถานการณ์ค่าระวางขนส่งสินค้าทางทะเลที่ปรับลดลงในเส้นทางสำคัญ แต่ยังคงมีความผันผวนจากการปรับขึ้นค่าใช้จ่ายและการเจรจาปรับขึ้นค่าแรงในชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐอเมริกาที่ยังไม่ยุติ และ 5) มาตรการทางการค้าที่พึงเฝ้าระวัง อาทิ การกลับมาส่งออกข้าวของอินเดียซึ่งกระทบต่อผู้ส่งออกข้าวไทย และการเลื่อนบังคับใช้ข้อกฎหมายด้านการนำเข้าสินค้าที่มีส่วนในการตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรป (European Union Deforestation-free Regulation: EUDR) ออกไปเป็นปี 2026 ซึ่งกระทบต่อราคาส่งมอบของผู้ส่งออกยางพารา

ทั้งนี้ สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทยมีข้อเสนอแนะที่สำคัญ ได้แก่ 1) เร่งลดต้นทุนการทำธุรกิจให้แก่ผู้ส่งออก อาทิ ต้นทุนการประกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และต้นทุนการประกันความเสี่ยงการชำระเงินค่าสินค้า 2) เพิ่มงบประมาณและจำนวนความถี่ในการจัดการส่งเสริมกิจกรรมการค้าทั้งในกลุ่มประเทศคู่ค้าหลักและตลาดลำดับรอง และ 3) เร่งรัดการเจรจาการค้าเสรีในกรอบที่มีอยู่เดิมและเพิ่มการเจรจาในตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ


อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Logistics Mananger เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Logistics Manager หรือคลิกที่นี่

บทความก่อนหน้านี้Wan Hai Lines เปิดบริการ PS6 เชื่อมเอเชียสู่ชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐอเมริกา
บทความถัดไปSyngenta และ Maersk ขยายระยะการเป็นพันธมิตรด้านโซลูชันซัพพลายเชนที่ยั่งยืน
Kittipat Sakulborirak
Writer, film maker, coach and some type of your friend