ไขปัญหาการนำเข้าสินค้าสู่อเมริกา: AMS/ISF Filing คืออะไร สำคัญอย่างไรต่อการขนส่งสินค้าไป USA?

0
6206
CBP Officers and an Agriculture Specialist board a container ship at the Baltimore Seaport. CBP photo by Jerry Glaser

หากพูดถึงการขนส่งสินค้า หลายคนอาจมองเห็นเพียงการขนย้ายสิ่งของจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่งด้วยยานพาหนะ
ซึ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งของกระบวนการโลจิสติกส์เท่านั้น

คุณอุมาวรรณ แหวนวิรุฬ ผู้จัดการฝ่ายเอกสารส่งออก บริษัท Kerry-Apex Thailand

แท้จริงแล้ว เบื้องหลังการเดินทางของสินค้าหนึ่งชิ้นจากประเทศต้นทางไปสู่ประเทศปลายทาง คือการดำเนินตามกฎเกณฑ์ มาตรการ และข้อบังคับที่ละเอียดอ่อนเกี่ยวกับการนำเข้า-ส่งออกอย่างเคร่งครัด เพื่อให้สินค้าเหล่านั้นสามารถขนส่งออกนอกประเทศ และนำเข้าสู่ประเทศจุดหมายได้อย่างราบรื่น

สำหรับประเทศที่มีมาตรการความปลอดภัยเข้มงวด กระบวนการดำเนินพิธีศุลกากรและดำเนินเอกสารเกี่ยวข้องกับความมั่นคงถือเป็นเรื่องที่ซับซ้อนอย่างยิ่ง หากเกิดความผิดพลาดในการดำเนินงานเพียงขั้นตอนเดียว ก็อาจสร้างปัญหาต่อเนื่องให้กับผู้ส่งสินค้าได้มากเกินคาดเดา ไม่ว่าจะเป็นความเสียหายจากการขนส่งสินค้าที่ล่าช้า ค่าปรับจากหน่วยงานด้านความมั่นคง จนไปถึงการสูญเสียความเชื่อมั่นจากผู้ใช้บริการ

LM มีโอกาสพูดคุยกับคุณอุมาวรรณ แหวนวิรุฬ ผู้จัดการฝ่ายเอกสารส่งออก และคุณสันทนา ชุมวิสูตร ผู้จัดการฝ่ายบริการลูกค้าอาวุโส บริษัท Kerry-Apex Thailand ผู้มีประสบการณ์ด้านการปฏิบัติการขนส่งสินค้าและการดำเนินเอกสารระหว่างประเทศกว่า 10 ปี มาแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินเอกสารเพื่อนำเข้าสินค้าสู่ประเทศที่มีกฎเกณฑ์เข้มงวดสูงสุดอย่างสหรัฐอเมริกา

ความซับซ้อนที่เกิดจากความจำเป็น

คุณสันทนา ชุมวิสูตร ผู้จัดการฝ่ายบริการลูกค้าอาวุโส บริษัท Kerry-Apex Thailand

สำหรับประเทศที่มีการนำเข้าสินค้าปริมาณมาก การทราบถึงจำนวนสินค้าที่ไหลเข้าสู่ประเทศ ตลอดจนที่มาและแหล่งผลิตของสินค้านั้น ถือเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งต่อการจัดการนำเข้าสินค้าอย่างเป็นระบบ และค้นหาปัจจัยเสี่ยงของสินค้านั้นๆ เพื่อให้การนำเข้าสินค้าทุกชิ้นเป็นไปอย่างปลอดภัยและได้รับการปฏิบัติอย่างถูกต้อง

“เมื่อพูดถึงการนำเข้าสินค้าสู่สหรัฐฯ ผู้ส่งสินค้าทุกรายจะต้องยื่นข้อมูลตามกำหนดมาตรการด้านความปลอดภัยให้แก่หน่วยงานศุลกากรสหรัฐฯ หรือ US Customs and Border Protection (CBP เพื่ออำนวยความสะดวกแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการตรวจสอบข้อมูลได้อย่างครบถ้วน ถูกต้อง และเป็นระบบ ประกอบด้วย Automated Manifest System (AMS) และ Importer Security Filing (ISF 10+2)” คุณอุมาวรรณกล่าว

“กระบวนการส่งข้อมูลทั้ง AMS และ ISF จะต้องดำเนินการด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ Electronic Data Interface: EDI โดย Kerry-Apex มี Global System ที่สามารถส่งข้อมูล EDI โดยตรงจากประเทศต้นทางไปยังศุลกากรสหรัฐฯ ทั้งบนระบบ AMS & ISF” คุณสันทนากล่าวเสริม

AMS และ ISF คืออะไร สำคัญอย่างไรต่อการส่งสินค้าไปยัง USA?

AMS หรือ Automated Manifest System คือเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งระบุรายละเอียดของสินค้าเพื่อยื่นแก่ศุลกากรสหรัฐฯ โดยเปิดรับการส่งข้อมูล 48 ชั่วโมง ก่อนที่เรือจะเข้าท่าเรือสุดท้าย ในบริการขนส่งสินค้าถ่ายลำ (Transshipment) หรือท่าเรือต้นทางในบริการขนส่งตรง (Direct Service) โดยตัวแทนผู้ส่งสินค้าต้องส่งข้อมูลภายใน 24 ชั่วโมงก่อนเรือขนส่งสินค้าออกเดินทางจากท่าเรือต้นทางมายังท่าเรือปลายทางในสหรัฐฯ

ที่มาของมาตรการด้านความปลอดภัยในการนำเข้าสินค้าสู่สหรัฐฯ เกิดขึ้นหลังจากเหตุวินาศกรรม 11 กันยายน 2001 หรือ 9/11 ส่งผลให้หน่วยงานความมั่นคงของศุลกากรสหรัฐฯ ออกมาตรการให้ผู้ส่งสินค้าสำแดงสินค้าทั้งหมดที่นำเข้ามายังสหรัฐฯ รวมถึงสินค้าข้ามพรมแดนผ่านสหรัฐฯ ไปยังประเทศที่สาม ด้วยการยื่นข้อมูลบนระบบ AMS โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม ปี 2002 เป็นต้นมา

A CBP Agriculture Specialist inspects grain shipments at the Baltimore Seaport. CBP photo by Jerry Glaser

ข้อมูลที่ต้องระบุใน AMS

ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับสินค้า

  • หมายเลข House Bill of Lading และ Master Bill of Lading
  • รหัส Standard Carrier Alpha Code (SCAC)
  • พิกัดอัตราศุลกากรของสหรัฐฯ (HTSUS Code)
  • ข้อมูลจำเพาะเกี่ยวกับสินค้าครอบคลุมถึง น้ำหนัก ขนาด จำนวน ประเภทสินค้า
  • รหัสและประเภทของบรรจุภัณฑ์ชั้นนอกและชั้นใน

ข้อมูลเกี่ยวกับการขนส่งสินค้า

  • ชื่อ ที่อยู่ ผู้นำเข้า-ออกสินค้า และประเทศที่ออกเอกสาร
  • ชื่อ รหัสเรือขนส่งสินค้า ประเทศจดทะเบียนเรือ
  • ชื่อท่าเรือต้นทาง และท่าเรือต่างประเทศที่สายการเดินเรือได้รับสิทธิ์เป็นผู้ถือครองสินค้า พร้อมเวลาเรือออก (ETD)
  • ชื่อท่าเรือล่าสุดที่เรือขนส่งสินค้าเข้าเทียบท่าในต่างประเทศก่อนมาถึงท่าเรือสหรัฐฯ
  • ชื่ท่าเรือเข้าเทียบท่าในสหรัฐฯ พร้อมวันที่เรือเข้าเทียบท่าท
  • หมายเลขตู้สินค้าและซีลล็อคตู้สินค้า

หลังจากออกมาตรการ AMS ได้สี่ปี ในวันที่ 13 ตุลาคม ปี 2006 ศุลกากรสหรัฐฯ ได้ออกประกาศกำหนดมาตรการด้านความปลอดภัยในการขนส่งสินค้าทางทะเล Import Security Filling and Additional Carrier Requirements หรือที่เรียกว่าข้อเสนอ ISF 10+2 โดยผู้นำเข้าสินค้าจะต้องยื่นข้อมูลต่อศุลกากรสหรัฐฯ ให้เสร็จสิ้นอย่างน้อย 24 ชั่วโมงก่อนยกตู้สินค้าขึ้นบนเรือ ณ ท่าเทียบเรือถ่ายลำสินค้า (Transshipment) หรือท่าเรือต้นทางในบริการขนส่งตรง (Direct Service)

ข้อมูลที่ต้องระบุใน ISF 10+2

ISF 10 ประกอบด้วยองค์ประกอบข้อมูล 10 ส่วน ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของผู้นำเข้าและผู้ส่งออก

  • ชื่อและที่อยู่ผู้ผลิตสินค้า
  • ชื่อและที่อยู่ผู้ขายสินค้า
  • ชื่อและที่อยู่ผู้ซื้อสินค้า
  • ชื่อและที่อยู่สำหรับจัดส่ง
  • สถานที่บรรจุสินค้าเข้าตู้
  • ชื่อผู้เปิดตู้พร้อมสถานที่เปิดตู้เพื่อกระจายสินค้า
  • หมายเลขทะเบียน ผู้นำเข้า/หมายเลขประจำตัวผู้ลงทะเบียนการค้าต่างประเทศ
  • พิกัดอัตราศุลกากรของสหรัฐฯ (HTSUS Code)
  • หมายเลขผู้นำเข้าสินค้า ได้แก่ IRS, EIN, SNN หรือ CBP
  • ประเทศที่ผลิตสินค้า

ISF 2 ประกอบด้วย ข้อมูล 2 ส่วนซึ่งเป็นความรับผิดชอบของสายการเดินเรือ

  • แผนผังการจัดวางตู้สินค้าบนเรือพร้อมระบุตำแหน่งตู้สินค้าที่นำเข้าสหรัฐฯ
  • สถานะตู้สินค้า
Agriculture inspection specialists with the U.S. Customs and Border Protection, Office of Field Operations, National Agriculture Cargo Targeting Unit, inspect containers of imported goods for invasive insect and plant species that may have hitched a ride to the U.S. from overseas at the Port of Baltimore July 26, 2017. U.S. Customs and Border Protection photo by Glenn Fawcett

สำหรับการขนส่งสินค้าข้ามแดนสหรัฐฯ ไปยังประเทศที่สาม โดยแวะเข้าเทียบท่าที่ท่าเรือสหรัฐฯ เพียงชั่วคราวและไม่ได้ถ่ายตู้สินค้าลงจากเรือ (Foreign remaining on board: FROB, Immediate Exportation: IE และ Transportation and Exportation: TE) ทางผู้ให้บริการ NVOCC จะต้องยื่นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ISF+5 ที่ประกอบด้วยองค์ประกอบข้อมูล 5 ส่วนดังนี้

  • ผู้จองระวางเรือ (Booking party)
  • ท่าเรือยกตู้สินค้าลงจากเรือในปลายทางต่างประเทศ (Foreign port of unlading)
  • ที่อยู่ปลายทางการขนส่ง (Place of delivery)
  • ชื่อปลายทางผู้รับสินค้า (Ship to party)
  • พิกัดอัตราศุลกากร (Commodity HTS Code)

ข้อแตกต่างระหว่าง AMS vs ISF

AMS เป็นเอกสารที่แสดงรายการข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับสินค้าจากประเทศต่างๆ และการเดินทางของสินค้านั้นๆ ถือเป็นข้อมูลจำเป็นสำหรับศุลกากรสหรัฐฯ ในการบริหารจัดการสินค้านำเข้าสู่สหรัฐอเมริกา รวมถึงการสำแดงสินค้าให้เป็นไปอย่างลื่นไหลและถูกต้องตามมาตรการการค้าที่กำหนด

ขณะที่ ISF เป็นเอกสารที่เน้นการระบุข้อมูลเกี่ยวกับความปลอดภัยในการนำเข้าสินค้า โดยกำหนดให้ตัวแทนขนส่งสินค้าแสดงข้อมูลเกี่ยวกับที่มาของสินค้าโดยละเอียด รวมถึงสายการเดินเรือที่ต้องแสดงข้อมูลเกี่ยวกับยานพาหนะที่ใช้ในการขนส่ง เพื่อให้ผู้มีอำนาจตรวจการสามารถพิจารณาปัจจัยเสี่ยงของสินค้าที่นำเข้าและจัดการตามมาตรการความปลอดภัยได้อย่างเหมาะสม ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งในการรับมือกับภัยจากการก่อการร้าย

การยื่น AMS/ISF ที่ถูกต้องภายในระยะเวลาที่กำหนดสำคัญอย่างไร?

“หากยื่น AMS ไม่ถูกต้อง ไม่สมบูรณ์ หรือเลยกำหนดเวลา จะเกิดค่าปรับอย่างน้อย 5,000 เหรียญสหรัฐ หรือหากเปลี่ยนแปลงข้อมูลประเภทสินค้า ชื่อผู้ส่งออก ชื่อผู้รับสินค้า ก็อาจมีค่าปรับเพิ่มอีก 5,000 เหรียญสหรัฐ นอกเหนือจากค่าใช้จ่ายจากค่าธรรมเนียมการแก้ไขข้อมูล ผลกระทบเหล่านี้จะทำให้การขนส่งสินค้าล่าช้า ยิ่งไปกว่านั้น กรณีนำเข้าตู้สินค้า LCL หากผู้ประกอบการเจ้าใดเจ้าหนึ่งยื่นข้อมูลไม่ครบถ้วน จะส่งผลกระทบต่อผู้ใช้บริการขนส่งสินค้าที่ใช้ตู้สินค้าเดียวกันด้วย” คุณอุมาวรรณกล่าว

ด้วยเหตุนี้ ตัวแทนผู้ส่งสินค้าหลายรายจึงนำเสนอบริการดำเนินเอกสารและพิธีศุลกากรให้แก่ผู้ส่งสินค้าอยู่เสมอ เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถมั่นใจได้ว่าสินค้าจะเดินทางไปถึงจุดหมายอย่างราบรื่นและปลอดภัย ภายใต้การดูแลปฏิบัติการโดยผู้เชี่ยวชาญ

“Kerry-Apex Thailand มีประสบการณ์ขนส่งสินค้าสหรัฐฯ มากว่า 10 ปี และมีความเชี่ยวชาญด้านการดำเนินพิธีศุลกากรและดำเนินการตามกฎเกณฑ์การขนส่งต่างๆ เมื่อส่งมอบอำนาจการยื่นข้อมูลต่อศุลกากรสหรัฐฯ ให้เราดูแลรับผิดชอบ ลูกค้าสามารถมั่นใจได้ว่าการนำเข้าสินค้าในท่าเรือปลายทางจะเป็นไปอย่างราบรื่นไม่ว่าจะส่งสินค้าแบบ FCL หรือ LCL
คุณสันทนากล่าว


อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Logistics Mananger เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Logistics Manager หรือคลิกที่นี่

บทความก่อนหน้านี้Maersk และ Barry Callebaut จัดพิธีเปิดหน้าดินสร้างคลังสินค้าจัดเก็บเมล็ดโกโก้ในมาเลเซีย
บทความถัดไปGSBN ต้อนรับ ONE เข้าเป็นสมาชิก มุ่งขยายความร่วมมือด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการขนส่ง
Satida Tinarak
Satida Tinarak is a fresh writer who loves to read political novels or even constitutional law. Politics news is a subject that she never gets tired of.