TNSC แถลงข่าวสถานการณ์การส่งออกเดือนมีนาคม 2023

0
909

เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคมที่ผ่านมา สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (TNSC) นำโดยคุณชัยชาญ เจริญสุข ประธาน TNSC ร่วมกับคุณสุภาพ สุวรรณพิมลกุล รองประธาน และคุณคงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหาร จัดงานแถลงข่าวสถานการณ์การส่งออกของไทยประจำเดือนมีนาคม ปี 2023

โดย TNSC ระบุว่ายอดการส่งออกมีมูลค่า 27,654.4 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 4.2 เปอร์เซ็นต์ และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 942,939 ล้านบาท ขยายตัว 2.2 เปอร์เซ็นต์ (เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในเดือนมีนาคมขยายตัว 0.01 เปอร์เซ็นต์) ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 24,935.5 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 7.1 เปอร์เซ็นต์ และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 860,535 ล้านบาท หดตัว 1.0 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนมีนาคม 2023 เกินดุลเท่ากับ 2,718.8 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเท่ากับ 82,403 ล้านบาท

ภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือนมกราคม – มีนาคมของปี 2023 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน พบว่า ไทยส่งออกรวมมูลค่า 70,280.1 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 4.5 เปอร์เซ็นต์ และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 2,373,189 ล้านบาท หดตัว 1.1 เปอร์เซ็นต์ (เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในช่วงมกราคม – มีนาคม หดตัว 0.9 เปอร์เซ็นต์) ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 73,324.3 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 0.5 เปอร์เซ็นต์ และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 2,508,390 ล้านบาท ขยายตัว 2.9 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนมกราคม – มีนาคม 2023 ขาดดุลเท่ากับ 3,044.2 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 135,201 ล้านบาท

ทั้งนี้ TNSC คาดการณ์ว่าการส่งออกของไทยรวมทั้งปี 2023 จะเติบโตระหว่าง 0-1 เปอร์เซ็นต์ (ณ เดือนพฤษภาคม 2023) โดยมีปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญในปี 2023 ได้แก่ 1) เศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอนสูง จากสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ส่งผลต่อทุกภาคส่วน อาทิ ภาคการเงิน การผลิต การส่งออก วัตถุดิบและพลังงาน 2) ต้นทุนการผลิตยังคงสูง โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า และพลังงาน ซึ่งยังมีความผันผวนและส่งผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขัน 3) ปริมาณสินค้าคงคลังในประเทศคู่ค้ายังคงปริมาณสูง ส่งผลให้ความต้องการลดลง 4) ปัญหาสภาพอากาศที่ร้อนจัดทั่วโลก ส่งผลต่อการผลิตในภาคการเกษตร ผลผลิตออกไม่ตรงตามฤดูกาล

โดย TNSC มีข้อเสนอแนะที่สำคัญ คือ ขอให้ภาครัฐบริหารจัดการการปรับค่าพลังงาน (ค่าไฟฟ้า FT) อย่างเหมาะสม เพื่อลดผลกระทบต่อต้นทุนของภาคการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้นและเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันต่อคู่ค้าคู่แข่งที่สำคัญ


อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Logistics Mananger เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Logistics Manager หรือคลิกที่นี่

บทความก่อนหน้านี้Nippon Express (Shanghai) เปิดคลังสินค้าควบคุมอุณหภูมิแห่งใหม่ใน Shanghai Waigaoqiao Free Trade Zone
บทความถัดไปCMA CGM Group เสนอสัญญาตราสารสิทธิในการขาย เล็งเข้าซื้อกิจการ Bolloré Logistics 100 เปอร์เซ็นต์