เมื่อวันที่ 10 มกราคมที่ผ่านมา สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย หรือสภาผู้ส่งออก (TNSC) นำโดยคุณชัยชาญ เจริญสุข ประธาน ร่วมกับคุณสุภาพ สุวรรณพิมลกุล รองประธาน และคุณคงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหาร แถลงข่าวการส่งออกประจำเดือนพฤศจิกายน ปี 2022
โดย TNSC ระบุว่า การส่งออกเดือนพฤศจิกายน ปี 2022 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า มีมูลค่า 22,308.0 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 6.0 เปอร์เซ็นต์ และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 846,191 ล้านบาท ขยายตัว 7.7 เปอร์เซ็นต์ โดยเมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในเดือนพฤศจิกายนหดตัวลง 2.0 เปอร์เซ็นต์
ในขณะเดียวกัน การนำเข้าในเดือนพฤศจิกายน ปี 2022 มีมูลค่า 23,650.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 5.6 เปอร์เซ็นต์ และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 907,143 ล้านบาท ขยายตัว 20.6 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนพฤศจิกายน ปี 2022 ขาดดุลเท่ากับ 1,342.1 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเท่ากับ 60,952 ล้านบาท
ในด้านภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือนมกราคม – พฤศจิกายนของปี 2022 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า พบว่าไทยส่งออกรวมมูลค่า 265,349.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 7.6 เปอร์เซ็นต์ และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 9,167,993 ล้านบาท ขยายตัว 18.4 เปอร์เซ็นต์ โดยเมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในช่วงมกราคม – พฤศจิกายน ขยายตัว 6.5 เปอร์เซ็นต์
ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 280,438.0 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 16.3 เปอร์เซ็นต์ และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 9,823,872 ล้านบาท ขยายตัว 28.0 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนมกราคม – พฤศจิกายนของปี 2022 ขาดดุลเท่ากับ 15,088.9 ล้าเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 655,879 ล้านบาท
ทั้งนี้ TNSC คาดการณ์การส่งออกรวมทั้งปี 2022 เติบโต 6-6.5 เปอร์เซ็นต์ และปี 2023 จะเติบโตระหว่าง 1-3 เปอร์เซ็นต์ โดยมีปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญในปี 2022 ได้แก่ 1) เศรษฐกิจโลกมีความผันผวนรุนแรงแบบไม่มีทิศทางที่ชัดเจน 2) สถานการณ์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในทิศทางที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว 3) ดัชนีภาคการผลิต PMI ในตลาดส่งออกสำคัญเริ่มชะลอต่อเนื่องอย่างมีนัยสำคัญ และ 4) ราคาพลังงานที่เป็นต้นทุนหลัก ยังคงมีความผันผวนจากสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศ
โดย TNSC ได้ให้ข้อเสนอแนะ ได้แก่ 1) ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทให้สอดคล้องกับประเทศคู่ค้าและคู่แข่งที่สำคัญ รวมถึงพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายแบบค่อยเป็นค่อยไป 2) ขอให้ช่วยชะลอหรือกำกับดูแลมาตรการภาครัฐใหม่ หรือยกเลิกมาตรการเดิมที่เป็นเหตุให้มีการเพิ่มต้นทุนกับผู้ประกอบการ/ผู้ผลิต ให้น้อยลง 3) สนับสนุนและเร่งรัดความต่อเนื่องของการเจรจาเขตการค้าเสรี (FTA) อาทิ ระหว่างไทยและสหภาพยุโรป (TH-EU) และระหว่างไทยและกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง (TH-GCC) และ 4) ขอให้เร่งขยายมาตรการส่งเสริมสินค้าอัตลักษณ์ไทย
อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Logistics Mananger เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Logistics Manager หรือคลิกที่นี่