ในปัจจุบัน การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) หรือ Port Authority of Thailand (PAT) บริหารจัดการท่าเรือ
ในประเทศไทยทั้งหมดห้าแห่ง ซึ่งประกอบไปด้วย ท่าเรือกรุงเทพ ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน ท่าเรือเชียงของ และท่าเรือระนอง

ท่าเรือแต่ละแห่งปฏิบัติการด้วยประสิทธิภาพที่เป็นเอกลักษณ์ ภายใต้วัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันออกไป โดยมีเป้าหมายร่วมกันในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยให้เดินหน้า พร้อมยกระดับอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ของประเทศไทยในตลาดการค้าโลก

LM ขอเชิญทุกท่านมาทำความรู้จักกับท่าเรือทั้งห้าแห่งนี้ให้มากยิ่งขึ้น


Bangkok Port

ท่าเรือกรุงเทพ เป็นท่าเรือที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณใจกลางของกรุงเทพมหานคร เป็นศูนย์กลางในการกระจายสินค้า สามารถเข้าถึงผู้บริโภคกว่า 10 ล้านคน ได้อย่างรวดเร็ว พร้อมรองรับสินค้ามูลค่าสูงและผลิตภัณฑ์เพื่อการบริโภค
รองรับการเชื่อมต่อการขนส่งสินค้าจากแหลมฉบังและปลายทางทั่วประเทศผ่านการขนส่งหลายรูปแบบ ทั้งทางถนน ทางราง
และทางน้ำ เชื่อมโยงเครือข่ายโลจิสติกส์ไทยและการค้าระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียด้วยบริการขนส่งตรง (Direct Call) พร้อมบริการตู้สินค้าครบวงจร รองรับเรือสินค้า และเรือขนส่งสินค้าชายฝั่งด้วยมาตรฐานบริการระดับสากล

ท่าเรือกรุงเทพมีพื้นที่รวมประมาณ 934 ไร่ มีความยาวหน้าท่ารวม 3,100 เมตร ระดับความลึกหน้าท่า 8.2 เมตร สามารถให้บริการเรือสินค้าขนาดสูงสุด 12,000 เดตเวทตัน มีปริมาณตู้สินค้าผ่านท่าโดยเฉลี่ย 1.5 ล้านทีอียูต่อปี

โดยท่าเรือกรุงเทพมีพื้นที่วางตู้สินค้าขาเข้า 147,600 ตารางเมตร คลังสินค้าขาเข้า 15 คลัง และคลังสินค้าขาออก 2 คลัง พร้อมให้บริการท่าเทียบเรือตู้สินค้า ท่าเทียบเรือชายฝั่ง ท่าเทียบเรือสินค้าทั่วไป ท่าเทียบเรือท่องเที่ยว สถานีขนส่งตู้สินค้า
ทางรถไฟ ลานตู้สินค้าเปล่า คลังสินค้าทัณฑ์บน คลังสินค้าอันตราย บริการตู้สินค้าห้องเย็น โดยมีบริการที่หลากหลาย ตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้บริการ

Laem Chabang Port

ท่าเรือแหลมฉบัง เป็นท่าเรือน้ำลึกหลักของไทยและท่าเรือประตูการค้าระดับโลก  โดยเป็นท่าเรือประเภท Gateway Port  อันดับที่ 3 ของโลก ไม่นับรวมท่าเรือในสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยเป็นรองจากท่าเรือ Los Angeles และท่าเรือ Long Beach  อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อซัพพลายเชนสินค้าไปยังโรงงานอุตสาหกรรมในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC)

ท่าเรือแหลมฉบังปฏิบัติการท่าเทียบเรือโดยผู้ประกอบการท่าเทียบเรือระดับโลก (Global Terminal Operators :GTOs) สามารถรองรับเรือขนส่งสินค้าหลากหลายประเภท ซึ่งรวมไปถึงเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่พิเศษ (Super Post Panamax) พร้อมขีดความสามารถในการกระจายสินค้าสู่กรุงเทพมหานคร และปลายทางทั่วประเทศ ผ่านการขนส่งหลายรูปแบบ ทั้งทางถนน ทางราง และทางน้ำ รวมทั้งให้บริการเช่าพื้นที่ประกอบกิจการโลจิสติกส์และธุรกิจอื่นๆ

ท่าเรือแหลมฉบังมีพื้นที่ท่าเรือทั้งหมด 6,341 ไร่ ประกอบไปด้วยท่าเทียบเรือตู้สินค้า 11 ท่า ท่าเทียบเรือเอนกประสงค์ 4 ท่า
ท่าเทียบเรือ Ro/Ro 1 ท่า ท่าเทียบเรือโดยสารและเรือ Ro/Ro 1 ท่า ท่าเทียบเรือสินค้าทั่วไปประเภทเทกอง 1 ท่า ท่าเทียบเรือสินค้าชายฝั่ง 1 ท่า อู่ต่อและซ่อมเรือ 1 ท่า พร้อมทั้งมีศูนย์การขนส่งสินค้าทางราง เพื่อเชื่อมต่อการขนส่งสินค้าภายในประเทศอย่างครบวงจร

Chiang Sean Commercial Port

ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน เป็นประตูการค้าระหว่างไทยและประเทศในลุ่มแม่น้ำโขงตอนบน ได้แก่ ประเทศไทย ภูมิภาคจีนตอนใต้ สหภาพเมียนมาร์ และสาธารณะรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสนมีความพร้อมในการสนับสนุนการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดน ด้วยศักยภาพในการรองรับเรือสินค้าทั่วไป และเรือน้ำมันเชื้อเพลิง อีกทั้งยังมีความสะดวกในการส่งออกสินค้าประเภทรถยนต์อย่างมีประสิทธิภาพ โดยท่าเรือพาณิชย์เชียงแสนมีสินค้าส่งออกหลักเป็นเนื้อสัตว์แช่แข็ง ซึ่งมีปริมาณสินค้าผ่านท่าเฉลี่ย 40,000-50,000 ตันต่อปี พร้อมกับน้ำตาลทรายที่มีปริมาณการส่งออก 30,000-40,000 ตันต่อปี

ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสนมีท่าเทียบเรือทางลาดสำหรับขนถ่ายสินค้าทั่วไป ความยาว 300 เมตร จำนวน 2 ท่า ท่าเทียบเรือแนวดิ่งสำหรับขนถ่ายสินค้าขนาดใหญ่และตู้สินค้า ความยาว 200 เมตร จำนวน 1 ท่า ท่าเทียบเรือขนถ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงความยาว  130 เมตร จำนวน 1 ท่า ลานตู้สินค้าขนาด 15,600 ตารางเมตร ลานจอดรถบรรทุก 100 คัน พื้นที่สำหรับกิจกรรมขนถ่ายน้ำมัน 12,500 ตารางเมตร พื้นที่วางสินค้าทั่วไป ขนาด 9,000 ตารางเมตร จำนวน 2 จุด และโรงพักสินค้าขนาด 900 ตารางเมตร จำนวน 2 หลัง ปลั๊กสำหรับตู้สินค้าควบคุมอุณหภูมิ 70 ปลั๊ก พร้อมระบบไฟฟ้าแสงสว่างอำนวยความสะดวกสำหรับการ
ขนถ่ายในเวลากลางคืน

Chiang Khong Port

ท่าเรือเชียงของเป็นท่าเรือขนส่งสินค้าในลุ่มแม่น้ำโขง บริเวณชายแดนไทยกับแขวงบ่อแก้วและแขวงหลวงพระบาง สาธารณะรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว รองรับเรือขนส่งสินค้าขนาดเล็ก และแพขนานยนต์ มีท่าเทียบเรือความยาว 180 เมตร กว้าง 24 เมตร สามารถรองรับเรือสินค้าทั่วไปขนาด 80-150 ตัน และสามารถรองรับรถบรรทุกในลานจอด 20-25 คัน อีกทั้งยังติดตั้งปลั๊กสำหรับตู้สินค้าควบคุมอุณหภูมิ 10 ปลั๊ก

ท่าเรือเชียงของเพียบพร้อมด้วยบริการท่าเทียบเรือ ความสะดวกในการขนส่งสินค้า บริการชำระค่าบริการพิธีการศุลกากร
และบริการตรวจคนเข้าเมือง

Ranong Port

ท่าเรือระนอง เป็นประตูการค้าที่สามารถรองรับการขนส่งสินค้าฝั่งทะเลอันดามัน เชื่อมโยงกับเส้นทางการค้าในกลุ่มประเทศ BIMSTEC เอเชียใต้ ตะวันออกกลาง ยุโรป และแอฟริกา โดยท่าเรือระนองมีระบบการให้บริการที่เป็นมาตรฐานสากล รองรับการขนส่งสินค้าทุกประเภท ด้วยท่าเทียบเรือตู้สินค้าและท่าเทียบเรืออเนกประสงค์ รวมทั้งเป็นฐานสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ในโครงการสำรวจและขุดเจาะก๊าซธรรมชาติและน้ำมันในบริเวณอ่าวเมาะตะมะ

ท่าเรือระนองมาพร้อมท่าเทียบเรือตู้สินค้าที่มีความกว้าง 30 เมตร ยาว 150 เมตร สามารถให้บริการเรือสินค้าขนาดสูงสุด 12,000 เดตเวทตัน มีโรงพักสินค้าขนาด 1,500 ตารางเมตร ลานวางสินค้าทั่วไปขนาด 7,200 ตารางเมตร และลานวางตู้สินค้าขนาด 11,000 ตารางเมตร

ท่าเรือระนองมีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมการขนส่งสินค้า ด้วยบริการตู้สินค้าที่ครบวงจร ตั้งแต่โรงพักสินค้า บริการชำระพิธีการศุลกากร บริการตรวจคนเข้าเมือง ไปจนถึงบริการให้เช่าพื้นที่ประกอบการ


การท่าเรือแห่งประเทศไทย มุ่งมั่นที่จะเพิ่มพูนประสิทธิภาพการปฏิบัติการ และพัฒนาศักยภาพขององค์กรสู่การเป็นท่าเรือชั้นนำ ภายใต้มาตรฐานสากล พร้อมทั้งยกระดับอุตสาหกรรมการขนส่งสินค้าของประเทศไทยในตลาดโลก ผ่านโครงการพัฒนาท่าเรือที่สำคัญ

โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3: เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของท่าเรือ ในการรองรับความต้องการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นในอนาคต โดยจะดำเนินการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกสำหรับจอดเรือและปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ เพื่อแก้ไขปัญหาจราจรภายในท่าเรือ ตลอดจนขยายโครงข่ายและระบบการขนส่งต่อเนื่อง ให้สามารถรองรับปริมาณสินค้าผ่านท่าเพิ่มขึ้นเป็น 18 ล้านทีอียูต่อปี

รวมทั้งโครงการพัฒนาและปรับปรุงประสิทธิภาพของโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งอำนวยความสะดวก เครื่องมือทุ่นแรง
และกระบวนการการทำงานภายในของท่าเรือกรุงเทพ เพื่อส่งเสริมระบบการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multimodal Transport) และพัฒนาระบบขนส่งและการขนถ่ายสินค้าให้มีโครงข่ายเชื่อมโยง (Logistics Chain) ภายในประเทศ

พร้อมกันนั้น การท่าเรือฯ ยังเสริมประสิทธิภาพการปฏิบัติการด้วยระบบ Port Community System (PCS) หรือระบบศูนย์กลางเชื่อมโยงข้อมูลด้านขนส่งทางน้ำ และโลจิสติกส์แบบไร้รอยต่อ ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านโลจิสติกส์ทั้งภาครัฐและเอกชนอีกด้วย

นอกจากนี้ การท่าเรือฯ ยังเร่งพัฒนาศักยภาพโครงสร้างพื้นฐานของท่าเรือระนอง และเครื่องมือทุ่นแรงต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการให้สามารถเชื่อมโยงการขนส่งกับกลุ่มประเทศ BIMSTEC ให้เป็นประตูการค้าฝั่งตะวันตก (Western Gateway)  ตามนโยบายพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน (SEC) อีกด้วย

ภายใต้การดำเนินการทั้งหมดที่ได้กล่าวมาในข้างต้น เพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ ‘มุ่งสู่มาตรฐานท่าเรือชั้นนำระดับโลก (World Class Port) ด้วยการให้บริการด้านโลจิสติกส์ที่เป็นเลิศ เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในปี พ.ศ. 2573’


อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Logistics Mananger เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Logistics Manager หรือคลิกที่นี่

บทความก่อนหน้านี้MSC เปิดตัวโซลูชันใหม่เชื่อมเอเชียและยุโรป
บทความถัดไปWan Hai Lines เปิดบริการขนส่งด่วน CI8 เชื่อมจีนตอนใต้ เวียดนาม และอินเดียตะวันตก