เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา คุณสมบัติ อนันตรัมพร ประธานกรรมการ บริษัท Interlink Communication Public Company Limited นำทีมต้อนรับรถไฟฟ้าไร้คนขับ (Automated People Mover: APM) ขบวนแรกสู่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยมีคุณเอนก ธีระวิวัฒน์ชัย รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (สายงานวิศวกรรมและการก่อสร้าง) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT และหน่วยงานเกี่ยวข้อง ร่วมต้อนรับ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
คุณสมบัติ อนันตรัมพร เปิดเผยว่า หลังจากที่ Interlink ได้ชนะการประกวดราคาจัดหารถไฟฟ้าไร้คนขับ APM ใน ‘โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2’ ในงานจัดซื้อพร้อมติดตั้งระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM) มูลค่า 2,100 ล้านบาท ภายใต้ความร่วมมือของบริษัท Siemens Mobility ในการจัดหาระบบรถไฟฟ้า รุ่น Airval สำหรับใช้เชื่อมต่อขนส่งผู้โดยสารระหว่างอาคารผู้โดยสารหลักกับอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT-1) โดยขบวนแรกได้รับการจัดส่งมายังประเทศไทย เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ณ ท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี และขนย้ายมาถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิโดยสวัสดิภาพ โดยบริษัทจะทยอยส่งมอบรถไฟฟ้า APM ให้ครบทั้ง 6 ขบวนภายในสิ้นปีนี้ และคาดว่าจะพร้อมเปิดให้บริการประชาชนภายในเดือนเมษายน ปี 2022
ทั้งนี้ รถไฟฟ้าไร้คนขับ APM เป็นเทคโนโลยีของบริษัท Siemens ผู้นำด้านรถขนส่งโดยสารอัตโนมัติไร้คนขับของโลก สำหรับรถไฟฟ้าไร้คนขับที่จะนำมาให้บริการภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมินั้นเป็นระบบรางวิ่ง 4 รางคู่ขนาน ระยะทางวิ่ง 1 กิโลเมตร และมีจำนวน 2 สถานี วิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใช้เวลาไม่เกิน 2 นาทีต่อเที่ยว วิ่งให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง 7 วันต่อสัปดาห์ รองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 3,590 คนต่อชั่วโมง
รถไฟฟ้า APM รุ่น Airval มีโรงงานผลิตอยู่ที่กรุง Vienna ประเทศออสเตรีย โดยบริษัทจะนำเข้าทั้งหมด 6 ขบวน ขบวนละ 2 ตู้ รวมเป็น 12 ตู้ ซึ่งใน 1 ขบวนสามารถจุผู้โดยสารได้ 210 คน รูปแบบรถเป็นระบบอัตโนมัติ มีระบบควบคุมการขับเคลื่อนอยู่ที่ศูนย์กลาง พร้อมด้วยระบบอาณัติสัญญาณ Communication Based Train Control system (CBTC) ที่จะเป็นระบบการทำงานอัตโนมัติที่พัฒนาขึ้นมาจากประเทศฝรั่งเศส มีระบบรางวิ่งแบบ central rail-guided APM ที่มีรางจ่ายไฟบริเวณกึ่งกลางทางวิ่ง มีระยะเบรคสั้น ล้อของรถ Airval เป็นยาง ซึ่งจะยึดเกาะได้ดีในพื้นที่ลาดเอียงและให้เสียงที่เงียบกว่าเมื่อเข้าโค้งเมื่อเทียบกับรถไฟระบบอื่นๆ นอกจากนี้ นวัตกรรมด้านระบบการจัดเก็บและสำรองพลังงานของระบบรถไฟฟ้ารุ่นนี้ช่วยให้มั่นใจได้ว่าการทำงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
คุณสมบัติ กล่าวว่า “ประเทศไทยนับเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ใช้ระบบรถไฟขับเคลื่อนแบบไร้คนขับในการรับ-ส่งผู้โดยสารในท่าอากาศยาน Interlink มีความภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ถึงแม้ว่าตลอดระยะเวลาการดำเนินโครงการจะพบเจออุปสรรคมากมาย อาทิ ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินยูโร ระยะเวลาในการส่งมอบรถที่ล่าช้ากว่ากำหนด จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่ Interlink ยังคงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาโครงการงานจัดซื้อพร้อมติดตั้งระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ เพื่อยกระดับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ให้ก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการบินในเอเชียที่มีศักยภาพในระดับสากล เพิ่มขีดความสามารถของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้อย่างน้อย 60 ล้านคนต่อปี”
อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Logistics Mananger เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Logistics Manager หรือคลิกที่นี่