โหมดขนส่งทางรางเส้นทางสายไหมใหม่ ฝ่าวิกฤตโควิด-19 สร้างสถิติเติบโตสูงเป็นประวัติการณ์

0
4212

การแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของเชื้อโควิด-19 ส่งผลกระทบเป็นอย่างมากต่อผู้คนทั่วโลก ทั้งด้านชีวิตความเป็นอยู่และด้านเศรษฐกิจ ไม่ว่าคุณจะเป็นเพียงประชาชนทั่วไป หน่วยงานรัฐ เอกชน องค์กรธุรกิจ หรือภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ไม่เว้นแม้กระทั่งอุตสาหกรรมการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ ทั้งในรูปแบบการขนส่งทางทะเล ทางบก และทางอากาศโดยเฉพาะอย่างยิ่งการขนส่งสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางข้ามพรมแดน

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางวิกฤติการณ์ครั้งนี้ยังคงมีรูปแบบการขนส่งสินค้าที่มีสถิติการเติบโตสวนทางการซบเซาของอุตสาหกรรมฯ ก็คือ การขนส่งสินค้าทางราง โดยเฉพาะเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างเอเชีย-ยุโรป หรือเส้นทางสายไหมใหม่ที่พัฒนาขึ้นภายใต้ โครงการ Belt & Road Initiative ของประเทศจีน

Brace for Impact

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (Novel Coronavirus) หรือโควิด-19 (COVID-19) ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา ไม่เพียงส่งผลกระทบรุนแรงต่อวิถีการดำเนินชีวิตของผู้คนทั่วโลกเท่านั้น แต่ยังเขย่ารากฐานทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมให้สั่นคลอน ไม่เว้นแม้กระทั่งอุตสาหกรรมการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์

นับตั้งแต่เกิดการระบาดอย่างรวดเร็วของโควิด-19 รัฐบาลของหลายประเทศทั่วโลกได้ตัดสินใจใช้แนวทางป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาด ด้วยมาตรการล็อกดาวน์ หรือการปิดเมือง/ประเทศ นอกจากนี้ ในบางประเทศยังได้มีการประกาศภาวะฉุกเฉินหรือเคอร์ฟิว สั่งห้ามผู้คนออกนอกเคหะสถานในช่วงเวลาที่กำหนด รวมไปถึงการออกข้อบังคับไม่ให้ประชาชนเดินทางข้ามเมือง เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดภายในประเทศ

อย่างไรก็ตาม แม้มาตรการเหล่านี้จะช่วยในการควบคุมโรคได้ในระดับที่น่าพอใจในหลายประเทศ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าสถานการณ์ดังกล่าวได้ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อธุรกิจหลายภาคส่วน เช่นเดียวกับธุรกิจที่พึ่งพาการนำเข้า-ส่งออก รวมถึงผู้ให้บริการขนส่งสินค้าที่ไม่สามารถปฏิบัติการขนส่งได้อย่างราบรื่น อันเป็นผลมาจากการระงับเที่ยวบินระหว่างประเทศ รวมถึงการขนส่งสินค้าทางเรือในบางเส้นทางที่ต้องประสบกับปัญหาการเข้าเทียบท่าและการนำตู้สินค้าออกจากท่าเรือจนทำให้มีสินค้าตกค้างเป็นจำนวนมาก ขณะที่การขนส่งสินค้าทางบกระหว่างประเทศก็ยังไม่สามารถให้บริการได้เป็นปกติ จากมาตรการตรวจสอบ ตรวจวัดไข้ และความเสี่ยงโรคที่เข้มงวด จนทำให้การดำเนินพิธีการขนส่งข้ามพรมแดนเป็นไปอย่างล่าช้า อีกทั้ง ในบางประเทศยังได้ออกข้อบังคับระงับการเดินทางเข้า-ออกพรมแดนระหว่างประเทศเป็นการชั่วคราวอีกด้วย

Wake-Up Call

ขณะเดียวกันผู้คนทุกหนแห่งต่างยังคงมีความต้องการบริโภคและใช้งานสินค้าเพื่อการดำรงชีพ ตลอดจนเครื่องมือ อุปกรณ์ความช่วยเหลือ และผลิตภัณฑ์ยา เพื่อใช้การรักษาและป้องกันการแพร่ระบาด แต่ภายใต้ข้อจำกัดและปัจจัยกำหนดต่างๆ ที่เอ่ยถึงข้างต้น ส่งผลให้เกิดปัญหาด้านการขนส่งและการไหลเวียนสินค้า ตลอดจนความไม่สมดุลระหว่างความต้องการขนส่งและพื้นที่ระวางสินค้า จนทำให้หลายสายการบินต้องปรับตัวโดยการนำเครื่องบินโดยสารที่ไม่ได้ใช้งานในช่วงวิกฤติมาให้บริการขนส่งสินค้าแบบเช่าเหมาลำ โดยใช้พื้นที่ห้องโดยสารบวกกับพื้นที่ระวางใต้ท้องเครื่อง หรือแม้กระทั่งปรับเปลี่ยนเครื่องบินโดยสารให้สามารถบรรทุกสินค้าได้ในปริมาณที่มากขึ้น ด้วยการถอดที่นั่งผู้โดยสารในห้องโดยสารชั้น Economy ออกเป็นการชั่วคราว

สำหรับโหมดการขนส่งสินค้าทางทะเล สายการเดินเรือหลายบริษัทได้ออกนโยบายปรับเปลี่ยนเส้นทางการเดินเรือ และยกเลิกการให้บริการไปยังท่าเรือบางแห่งเป็นการชั่วคราว เนื่องจากปริมาณสินค้าไม่สมดุลกับพื้นที่ระวาง หรือประสบกับข้อจำกัดในการให้บริการ อาทิ กฎระเบียบการเข้าเทียบท่า การดำเนินการพิธีการศุลกากร และขั้นตอนการออกของที่มีความเข้มงวดขึ้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้นำมาซึ่งความล่าช้าและความไม่แน่นอนในการขนส่งสินค้าไปยังท่าเรือในบางเส้นทาง

อย่างไรก็ตาม ผู้ส่งออกและผู้ให้บริการรับจัดการขนส่งสินค้า ยังคงมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการขนส่งสินค้าและสร้างความมั่นคงให้กับซัพพลายเชน ดังนั้น พวกเขาจึงต้องมองหาทางออกที่ยืดหยุ่นและมั่นใจได้ว่าจะสามารถขนส่งสินค้าไปยังปลายทางได้อย่างราบรื่น และนี่จึงเป็นอีกหนึ่งแรงกระตุ้นที่ผลักดันให้พวกเขาหันมาให้ความสนใจรูปแบบการขนส่งสินค้าทางรางระหว่างประเทศมากยิ่งขึ้น เนื่องจากการขนส่งทางรางเป็นช่องทางการขนส่งสินค้าที่มีต้นทุนการขนส่งต่ำกว่าการขนส่งทางอากาศราวแปดเท่า และรวดเร็วกว่าการขนส่งทางทะเลเกือบเท่าตัว โดยเฉพาะการขนส่งสินค้าทางรางระหว่างประเทศในเส้นทางสายไหมใหม่ ภายใต้โครงการ Belt & Road Initiative เชื่อมต่อทวีปเอเชียไปยังยุโรป ยกตัวอย่างเช่น การขนส่งสินค้าจากจีนไปยังเมือง Hamburg ประเทศเยอรมนี ที่ปัจจุบันใช้เวลาเพียง 18 วัน เมื่อเทียบกับการขนส่งสินค้าทางทะเลที่ใช้เวลาถึง 32 วัน

Fasten the Belt

แม้ว่าการริเริ่มโครงการ Belt & Road Initiative หรือชื่อเดิม One Belt, One Road จะได้รับการต่อต้านและถูกวิจารณ์จากนานาประเทศมาโดยตลอดนับตั้งแต่จีนเริ่มเปิดตัวโครงการเมื่อปี 2013 ว่าเป็นการขยายอำนาจด้วยยุทธศาสตร์แบบซอฟท์ พาวเวอร์ (soft power) แต่ด้วยเครือข่ายทางรถไฟความยาวนับหมื่นกิโลเมตร พร้อมเส้นทางรถไฟมากกว่า 30 เส้นทาง เชื่อมต่อหลายประเทศในทวีปเอเชียและยุโรป พร้อมสิทธิประโยชน์ด้านต้นทุนการขนส่งที่สมเหตุสมผล ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่านี่เป็นทางเลือกและโอกาสที่ไม่อาจมองข้ามไปได้ นั่นจึงทำให้ปัจจุบันเส้นทางขนส่งสินค้าเส้นทางนี้ขยับขึ้นมาเป็นทางเลือกสายกลางที่สำคัญของโลก อีกทั้ง โหมดการขนส่งทางรางในเส้นทางดังกล่าวยังพาดผ่านประเทศต่างๆ ในเอเชียกลาง ยุโรปตะวันออกและยุโรปกลาง อีกทั้งยังมีแผนการก่อสร้างเส้นทางขนส่งสินค้าไปยังภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลก ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับประเทศไม่มีพรมแดนติดทะเล

นอกจากนี้ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 การขนส่งทางรางระหว่างประเทศได้กลายเป็นช่องทางการขนส่งที่มีประสิทธิภาพ และสอดรับกับแนวทางการรับมือกับสถานการณ์ได้ค่อนข้างดี เนื่องจากเป็นรูปแบบการขนส่งที่ใช้แรงงานคนน้อยเมื่อเทียบกับระยะทางและปริมาณสินค้า อีกทั้งยังมีขั้นตอนการผ่านพรมแดนที่ซับซ้อนน้อยกว่า จึงลดโอกาสในการสัมผัสและลดโอกาสในการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสได้อีกนัยหนึ่ง

Future Growth

แม้ว่าก่อนหน้านี้ปริมาณการใช้บริการในเส้นทางการขนส่งสินค้าทางรางระหว่างเอเชีย-ยุโรปสายใหม่นี้ จะเริ่มมีการเติบโตและกลายเป็นตัวเลือกที่ผู้ส่งสินค้าเริ่มหันมาให้
ความสนใจมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าวิกฤตการณ์โควิด-19 ได้กลายเป็นชนวนเร่งการเติบโตของการขนส่งสินค้าในเส้นทางดังกล่าวให้พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ โดยเฉพาะในเส้นทางการขนส่งไปยังประเทศต่างๆ ในยุโรป ซึ่งปัจจุบันมีอัตราการขนส่งสินค้าประเภทเครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการรับมือกับสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงสินค้าประเภทอื่นๆ ด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าตลอดช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาเส้นทางการขนส่งสินค้าทางรางระหว่างเอเชีย-ยุโรป ภายใต้โครงการ Belt & Road Initiative จะมีตัวเลขการเติบโตที่ก้าวกระโดดและได้กระตุ้นความสนใจให้ผู้ส่งออกและผู้รับจัดการขนส่งสินค้าหันมาเห็นความสำคัญของเส้นทางดังกล่าวมากขึ้นในช่วงวิกฤตโควิด-19 แต่เรายังคงต้องจับตามองกันต่อไปในระยะยาวว่า เมื่อสถานการณ์โลกกลับมาเป็นปกติการให้บริการขนส่งสินค้าทางรางในเส้นทางสายไหมใหม่นี้จะยังคงรักษาปริมาณสินค้าได้อย่างน่าพึงพอใจเช่นนี้ต่อไปได้หรือไม่ และการเติบโตของโครงการฯ ในอนาคตจะเดินหน้าไปในทิศทางใด

อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Logistics Mananger เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Logistics Manager หรือคลิกที่นี่

บทความก่อนหน้านี้Kale Logistics เปิดทดลองใช้โซลูชัน e-DO หนุนอุตสาหกรรมพาณิชย์นาวีฝ่าวิกฤต COVID-19
บทความถัดไปท่าเรือยูนิไทย จัดกิจกรรมเพื่อสังคม ‘ยูนิไทย ปันน้ำใจสู่ชุมชน สู้ภัย COVID-19’
Phubet Boonrasri
Chen is an experienced writer and an avid explorer of nature. He thrives on travelling, hiking, and backpacking to new places. His wanderlust has allowed him to experience and learn from new cultures, allowing him to better accommodate for whatever comes his ways.