เจาะลึกไทม์ไลน์เหตุการณ์สำคัญของท่าเทียบเรือ ชุด D

0
3275

ด้วยปริมาณการขนส่งสินค้านำเข้า-ส่งออกผ่านท่าเรือแหลมฉบังที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของไทยในการเป็นศูนย์กลางการส่งออกที่สำคัญในภูมิภาคอาเซียน บวกกับเป้าหมายในการสนับสนุนเศรษฐกิจและการค้าของไทยให้เติบโตยิ่งขึ้นในเวทีโลก บริษัท ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย (HPT) จึงได้ตัดสินใจลงทุนก่อสร้างท่าเทียบเรือ ชุด D เพื่อต่อยอดความสำเร็จของ HPT ในฐานะบริษัทผู้ปฏิบัติการท่าเทียบเรือชั้นนำในท่าเรือแหลมฉบังมายาวนานกว่า 15 ปี อีกทั้งยังเป็นเกตเวย์สำคัญที่จะเชื่อมต่อกับโครงการระเบียงเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออก (EEC) ภายใต้ยุทธศาสตร์ Thailand 4.0 ที่มีเป้าหมายขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตและทันสมัยยิ่งขึ้น ผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม

การก่อสร้างท่าเทียบเรือ ชุด D ท่าเรือแหลมฉบัง มีมูลค่าการลงทุนเกือบ 20,000 ล้านบาท (600 ล้านเหรียญสหรัฐ) โดยเป็นท่าเทียบเรือขนส่งสินค้าแห่งแรกที่มีการติดตั้งเทคโนโลยีควบคุมระบบปฏิบัติงานจากระยะไกล (Remote Control Technology) อย่างเต็มรูปแบบ โดยท่าเทียบเรือ ชุด D แห่งนี้ มีขีดความสามารถในการรองรับสินค้าได้มากถึง 3.5 ล้านทีอียู ซึ่งเมื่อรวมกับท่าเทียบเรือ A2, A3 และ C1C2 ของ HPT ทำให้ปัจจุบัน บริษัทฯ มีขีดความสามารถในการรองรับสินค้าได้มากถึง 6 ล้านทีอียู ซึ่งเป็นการตอกย้ำถึงความสำเร็จของ HPT ในฐานะผู้ให้บริการท่าเทียบเรือรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

วันที่ 14 พฤศจิกายน ปี 2016

Ground Breaking Ceremony

บริษัท ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย (HPT) จัดพิธีวางศิลาฤกษ์ในการก่อสร้างท่าเทียบเรือ ชุด D โดยเฟส 1A ประกอบด้วย การก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกที่มีหน้าท่ายาว 400 เมตร มีการติดตั้งปั้นจั่นยกตู้สินค้าหน้าท่า ควบคุมการปฎิบัติงานจากระยะไกล ขนาด Super post-panamax จำนวนสามคัน และปั้นจั่นยกตู้สินค้าในลานแบบล้อยาง ควบคุมการปฎิบัติงานจากระยะไกล จำนวน 10 คัน ซึ่งท่าเทียบเรือ ชุด D เฟส 1A ได้เปิดให้บริการ เมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2018

ขณะที่ท่าเทียบเรือ ชุด D เฟส 1B จะก่อสร้างแล้วเสร็จช่วงกลางปี 2019 โดยเมื่อท่าเทียบเรือ ชุด D ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ จะมีความยาวหน้าท่ารวม 1,700 เมตร มีปั้นจั่นยกตู้สินค้าหน้าท่ารวม 17 คัน และปั้นจั่นยกตู้สินค้าในลานแบบล้อยาง 43 คัน ซึ่งมีการปฏิบัติการด้วยระบบควบคุมระยะไกลครั้งแรกของประเทศไทย

วันที่ 12 มกราคม ปี 2018

The first 3 Remote-control Quay Cranes and 8 Remote-control Electric RTG Cranes are Delivered

HPT รับมอบปั้นจั่นยกตู้สินค้าหน้าท่าควบคุมการปฏิบัติงานจากระยะไกล (RCQC) จำนวนสามคัน และปั้นจั่นยกตู้สินค้าในลานแบบล้อยางควบคุมการปฏิบัติงานจากระยะไกล (RCeRTGC) จำนวนแปดคัน ซึ่งผลิตโดย บริษัท Shanghai Zhenhua Heavy Industry (ZPMC)

โดยเครื่องมือทั้งสองชนิดนี้ มีการติดตั้งเทคโนโลยีควบคุมการปฏิบัติงานจากระยะไกล ซึ่งท่าเทียบเรือ ชุด D เป็นท่าเทียบเรือตู้สินค้าแห่งแรกของประเทศไทยที่มีการติดตั้งเทคโนโลยีนี้ สำหรับปั้นจั่นยกตู้สินค้า RCQC สามารถปฏิบัติงานบนเรือที่มีระวางบรรทุกตู้ได้ถึง 24 แถว และสามารถยกน้ำหนักได้สูงสุด 61 เมตริกตัน ขณะที่ปั้นจั่นยกตู้สินค้า (RCeRTGC) สามารถยกตู้สินค้าหนักได้สูงหกชั้น และยกสินค้าหนักได้ถึง 40 เมตริกตัน

วันที่ 23 มีนาคม ปี 2018

Two More Remote-control Electric RTGCs are Delivered

HPT มอบปั้นจั่นยกตู้สินค้า RCeRTGC เพิ่มอีกจำนวนสองคัน จาก บริษัท Shanghai Zhenhua Heavy Industry (ZPMC) ทำให้ขณะนี้ท่าเทียบเรือ ชุด D มีปั้นจั่นยกตู้สินค้า RCeRTGC จำนวนรวม 10 คัน

วันที่ 17 เมษายน ปี 2018

20 New Terminal Tractors are Delivered

HPT รับมอบรถหัวลากพร้อมหางชุดแรก จำนวน 20 คัน

วันที่ 18 มิถุนายน ปี 2018

HPT Welcomes the First Vessel to Call Terminal D at Laem Chabang Port

ท่าเทียบเรือ ชุด D ต้อนรับ เรือขนส่งสินค้า ‘M.V. MOL Grandeur’ ของ สายการเดินเรือ Ocean Network Express (ONE) ซึ่งเข้าเทียบท่าเป็นครั้งแรก ในช่วงบ่ายของวันที่ 18 มิถุนายน และออกจากท่าเรือแหลมฉบังในวันที่ 19 มิถุนายน โดยเรือขนส่งสินค้าดังกล่าว มีขนาดพื้นที่ระวาง 5,556 ทีอียู ความยาว 275 เมตร และกว้าง 40 เมตร และเรือลำนี้ถือเป็นเรือลำแรกที่เข้าเทียบท่าที่ท่าเทียบเรือ ชุด D ของ HPT

วันที่ 19 มิถุนายน ปี 2018

HPT Operates Remote-control Quay Cranes and Remote-control Electric Rubber Tyred Gantry Cranes for the First Time

HPT ปฏิบัติการปั้นจั่นยกตู้สินค้าหน้าท่าและปั้นจั่นยกตู้สินค้าในลานแบบล้อยางซึ่งควบคุมการปฏิบัติงานจากระยะไกลเป็นครั้งแรก สำหรับขนถ่ายตู้สินค้าจาก เรือขนส่งสินค้า ‘M.V. MOL Grandeur’ เข้าสู่ลานเก็บตู้สินค้า

วันที่ 24 พฤศจิกายน ปี 2018

HPT Welcomes ONE Columba, Largest Vessel Ever to Call a Thailand Port

บริษัท ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย ต้อนรับเรือขนส่งสินค้า ‘ONE Columba’ ของ สายการเดินเรือ Ocean Network Express (ONE) เข้าเทียบท่าเทียบเรือ ชุด D ในช่วงเช้าของวันที่ 24 พฤศจิกายน และออกจากท่าเรือแหลมฉบังในวันที่ 26 พฤศจิกายน

โดยเรือ ‘ONE Columba’ มีความยาวตลอดลำ 364 เมตร และมีระวางน้ำหนัก 145,647 ตัน ซึ่งเป็นเรือขนส่งตู้สินค้าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่เข้าเทียบท่าเรือแหลมฉบัง

นอกจากนี้ บริษัท HPT ยังได้นำปั้นจั่นยกตู้สินค้าหน้าท่าและปั้นจั่นยกตู้สินค้าในลานแบบล้อยาง ซึ่งควบคุมการปฏิบัติงานจากระยะไกล มาใช้ในการยกขนตู้สินค้าจำนวน 2,269 ตู้ขึ้นเรือ โดยใช้เวลาปฏิบัติการเพียง 24 ชั่วโมง

อัพเดตข่าวสารและบทความที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อนใคร ผ่าน Line Official Account @Logistics Mananger เพียงเพิ่มเราเป็นเพื่อน @Logistics Manager หรือคลิกที่นี่

บทความก่อนหน้านี้คาดการณ์การส่งออกไทยปี 2019 กับสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (TNSC)
บทความถัดไปMr. Jeremy Nixon กับวิสัยทัศน์และแนวทางในอนาคตของ ONE Line
Satida Tinarak
Satida Tinarak is a fresh writer who loves to read political novels or even constitutional law. Politics news is a subject that she never gets tired of.